×

START A PROJECT

We are here to build a high-quality extension for brands to serve your consumers.

    By Noppadon Wisuttikun - 02 August 2021

    จำนวน UX/UI Designer ในทีม: ต้องมีกี่คนถึงจะพอ?

    จำนวนของ Designer เมื่อเทียบกับ Developer ในทีมพัฒนา Digital Product นั้นค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามความท้าทายที่มากขึ้น ไม่ว่าจะสาย Graphic, UI และ UX เพราะเมื่อของเทคโนโลยีเริ่มเข้าไปอยู่ในชีวิตของคนจำนวนมากทั่วโลก งานที่ผ่านการศึกษาทำความเข้าใจผู้ใช้งานย่อมจะออกแบบมาได้ตอบโจทย์และเป็นมิตรกับการใช้งานมากกว่า ซึ่งนำไปสู่การสร้างความประทับใจกับผู้ใช้ และผลกำไรของบริษัท

    แล้วต้องมีดีไซเนอร์กี่คน?

    เรียกว่าอาจเป็นคำถามที่เป็นเรื่องให้ถกเถียงกันได้เรื่อย ๆ เกี่ยวกับจำนวนของ Designer ในทีมว่าควรมีมากเท่าไรกันแน่? ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลจากนักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญด้าน UX/UI ในหลากหลายประเภทธุกิจ ของเว็บไซต์ Nielsen Norman Group พบว่าบริษัทส่วนใหญ่จะมีนักออกแบบ 1 คน ต่อนักพัฒนาประมาณ 10 คนหรือน้อยกว่านั้น


    ซึ่งในความเห็นของพวกเขา (นักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญ UX ที่ตอบแบบสำรวจ) ไม่ว่าจะมีสัดส่วนนักออกแบบต่อจำนวนนักพัฒนามากหรือน้อย ก็ส่งผลต่อการใช้งานของผลิตภัณฑ์ ความสวยงาม หรือความพึงพอใจของลูกค้าไม่ต่างกัน แต่นี่ก็เป็นเพียงการสำรวจ “ความคิดเห็น” ของคนที่ทำงานสายออกแบบเท่านั้น ในขณะที่กระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ดิจิทัลจะต้องมีขั้นทดสอบหลากหลายแบบเพื่อให้แน่ใจถึงผลลัพธ์

    Alex Schleifer ผู้ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าด้านการออกแบบของ Airbnb เคยเขียนบทความ Defining Product Design เอาไว้ว่าเราไม่ต้องมีนักออกแบบมากเท่า ๆ กับวิศวกร แต่เราสามารถควบคุมสัดส่วนให้เหมาะสมไว้ได้ ซึ่งเขาแนะนำสัดส่วนของนักออกแบบต่อวิศวกรในทีมที่ 1:6-1:8 และควรจะคำนึงถึงสัดส่วนนี้ตั้งแต่เริ่มสร้างทีม เพื่อให้มีจำนวนนักออกแบบมากพอสำหรับทำงานในฟีเจอร์ต่าง ๆ และเอื้อต่อการขยายทีมในอนาคต

    แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือหลายบริษัท มักจะมีการคิดและตัดสินใจว่าจำทำอะไรไปหลายอย่างแล้วก่อนที่จะเริ่มตัดสินใจจ้างดีไซเนอร์สักคน ซึ่ง Alex Schleifer เปรียบเทียบสถานการณ์แบบนี้ว่าเหมือนกับการสร้างเก้าอี้สามขาที่ขาข้างหนึ่งสั้นกว่าอีกสองข้างที่เหลือ สุดท้ายก็กลายเป็นเก้าอี้ที่ไม่มีสมดุล เพราะการออกไอเดียและตัดสินใจจากทีมงานจะมีความไม่ต่อเนื่องกัน

    ถ้ามีดีไซเนอร์น้อยไปจะเกิดอะไรขึ้น

    แน่นอนว่าการจะตัดสินใจหาดีไซเนอร์เข้ามาสักคนในทีมโดยเฉพาะสำหรับการสร้าง Digital Product แน่นอนว่าหัวหน้าหรือเจ้าของโปรเจ็คย่อมต้องเล็งเห็นความสำคัญบางอย่างเกี่ยวกับงานออกแบบ แต่แน่นอนว่าสัดส่วนของทีมงานทั้งนักออกแบบและนักพัฒนานั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะแม้ว่าตัวนักออกแบบหรือหัวหน้าฝ่ายออกแบบอาจจะรู้สึกหรือไม่ หากถึงเวลาคับขันที่เวลาเหลือไม่พอให้ทำงาน เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงต้องเคยทำงานด้วยความคิดว่า “เอาแบบนี้ก่อนแล้วกัน” “แบบนี้ user น่าจะเข้าใจ” “อย่างนี้น่าจะใช้งานง่าย” ฯลฯ

    เราหลาย ๆ คน ในฐานะนักออกแบบ อาจจะเคยผ่านการทำงานด้วยความคิดแบบนี้มาก่อน ที่สถานการณ์ทำให้จำเป็นต้องข้ามขั้นตอนสำคัญอย่างการศึกษาและทำความเข้าใจปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย การสัมภาษณ์ แบบสอบถาม การทำโปรโตไทป์ หรือการทดสอบไปเพราะมีคนไม่พอที่จะจัดสรรไปทำงานเหล่านั้น ผลลัพธ์ของมันคือเราจะไม่มีข้อมูลมากพอต่อการโต้แย้งหากว่าฟีเจอร์บางอย่างจะต้องถูกตัดออกในขั้นตอนการพัฒนาเนื่องจากต้องใช้ทรัพยากรทั้งคนและเวลามากเพื่อจะสร้างมันขึ้นมา

    โดยที่แม้แต่เราเองก็อาจไม่มีวันได้รู้ว่าสิ่งนั้นจำเป็นต่อการใช้งานแค่ไหน หรือถ้าลองทำต้นแบบมาทดสอบการใช้งานจะได้ผลลัพธ์อย่างไร ซึ่งแน่นอนล่ะว่าสุดท้ายก็จะ Visual ออกมาให้เห็นแน่ ๆ แต่คงไม่มีข้อมูลอะไรรองรับ หรือการันตีว่าจะไม่เกิดปัญหาใหญ่ ๆ เกี่ยวกับการใช้งานขึ้นหลังจากที่ Product นั้นถูกพัฒนาและปล่อยออกไป เรียกว่าทำงานไม่ต่างกับการเสี่ยงดวงเลยก็ว่าได้

    ทำอย่างไรถ้ายังขยายทีมเพิ่มไม่ได้

    ใช่แล้ว ปัญหาไม่ใช่แค่การหานักออกแบบที่ตรงตามความต้องการไม่เจอแน่ ๆ เพราะแม้งานด้านการออกแบบจะทำให้ Digital Product ที่บริษัทต่าง ๆ กำลังสร้างสามารถเข้าถึงและตอบโจทย์ผู้ใช้งานของพวกเขาได้มากแค่ไหน แต่ชุดความคิดที่ว่า ‘ไม่มี Designer ยังสร้างของออกมาได้ ถึงจะดีไม่เท่า แต่ถ้าไม่มี Developer ก็จะสร้างอะไรไม่ได้เลย’ ก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งในช่วงวิกฤติจากการระบาดของ Covid-19 ตำแหน่งงานด้านการออกแบบก็มีการถูกปลด หรือชลอการจ้างคนเพิ่มมากกว่า เมื่อเทียบตำแหน่งนักพัฒนา

    และทีมงานฝ่ายยออกแบบก็ต้องรับภาระมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย แน่นอนว่าเราจะต้องเลือกโฟกัสกับงานที่สำคัญ และส่งผลต่อปัจจัยที่เราใช้ชี้วัดจริง ๆ ขั้นตอนการสื่อสารบางอย่างที่ปกติอาจจะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ อาจจะใช้ตัวเลือกบันทึกการประชุมแบบอนไลน์ เพื่อที่จะอธิบายครั้งเดียวแล้วให้ทีมพัฒนาเปิดดูย้อนหลังได้ อาจจะต้องลดจำนวนคน/เคสในการทดสอบต่าง ๆ ลง และอาจจะข้ามขั้นตอนการทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดสูง เหลือเพียงการทำ Wireframe ที่มีความละเอียดเพียงให้สื่อสารเข้าใจในทีมได้ แบ่งเวลาให้โฟกัสได้ทีละงานในกรณีที่มีสมาชิกทีมที่ต้องถืองานมากกว่า 1 อย่าง เป็นต้น

    ซึ่งทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่คำตอบของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ก็เป็นทางเลือกในการเผชิญความท้าทายที่นักออกแบบในระดับ Senior หรือหัวหน้าทีมฝ่ายออกแบบในบริษัทเทคโนโลยีและไอทีมากมายต่างเผชิญมาแล้วอย่างน้อยก็ครบปี หรือกำลังจะต้องเผชิญในไม่ช้า

    MORE ARTICLES

    0 Comment