×

START A PROJECT

We are here to build a high-quality extension for brands to serve your consumers.

    By HOCCO - 28 March 2023

    นักพัฒนาซอฟต์แวร์ทําอะไร ต้องมีในองค์กรหรือไม่ [ดูทักษะที่จำเป็น]

    ในยุคปัจจุบันที่นวัตกรรมได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราไม่มากก็น้อย ส่งผลให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ ๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคืออาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่เป็นผู้สร้างฟีเจอร์ใหม่ ๆ ให้กับนวัตกรรมเหล่านั้น แต่อาชีพนี้ความจริงพวกเขาทำอะไรกันแน่ สำหรับองค์กรแล้วพวกเขามีความจำเป็นมากแค่ไหน และทักษะที่จำเป็นของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในยุคนี้ควรจะมีอะไรบ้างนะ

    เจาะลึกนักพัฒนาซอฟต์แวร์ อาชีพนี้เขาทำอะไรกันนะ


    Software Developer หรือ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ คือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการออกแบบและวางแผนพัฒนาโปรแกรม โดยจะเน้นในเรื่องของการเขียนโปรแกรม รวมไปถึงการบริหารโปรเจกต์ และออกแบบฟีเจอร์ต่าง ๆ รวมไปถึงการวิเคราะห์โปรแกรม ซึ่งขอบเขตงานจะกว้างกว่าการเขียนโปรแกรมทั่ว ๆ ไป เนื่องจากมีส่วนร่วมกับทั้งโปรเจกต์ มากกว่าที่จะดูแลในส่วนของชิ้นงานเพียงอย่างเดียวนั่นเอง

    ลักษณะงานที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ต้องทำ

    1. วิจัย วิเคราะห์ และพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ที่ได้รับมอบหมาย

    2. ศึกษากระบวนการ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ทำอยู่

    3. ออกแบบกระบวนการในการทำระบบซอฟต์แวร์ให้เป็นมาตรฐาน

    4. ทดสอบ และตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการให้เป็นไปตามความต้องการ

    5. ประเมินผลการทำงานของแต่ละขั้นตอนในกระบวนการ พร้อมประเมินผลความเสี่ยงของตัวโปรแกรม

    6. สนับสนุนการพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบใหญ่ให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

    7. ดูแลและแก้ไขข้อมูลด้านซอฟต์แวร์ของสถานประกอบการที่รับผิดชอบ

    8. แนะนำและสอนเทคนิคการใช้โปรแกรมให้แก่พนักงาน และงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย

    9. ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ลุล่วง


    ทักษะที่จำเป็นสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในยุคนี้

    1. ความรู้เกี่ยวกับภาษาโปรแกรมมิ่งอันใดอันหนึ่งในระดับที่เชี่ยวชาญ

    นักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดี ควรมีความรู้ความเชี่ยวชาญในภาษาโปรแกรมมิ่งอันใดอันหนึ่งอยู่ก่อน เนื่องจากงานของพวกเขา หากไม่เชี่ยวชาญภาษาใดภาษาหนึ่งจริง ๆ การเติบโตในทางสายอาชีพนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก จึงควรเริ่มจากการศึกษาภาษาเดียวให้เชี่ยวชาญถึงที่สุด ก่อนที่จะเริ่มหันไปศึกษาภาษาโปรแกรมมิ่งอื่น ๆ จะเป็นการดีกว่านั่นเอง

    2. การออกแบบที่อิงการใช้อ๊อพเจ็กต์อ้างอิงหรือ Object-Oriented

    นี่เป็นทักษะที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์มือใหม่มักละเลย ซึ่งการออกแบบตามหลัก Object-Oriented จะช่วยเปลี่ยนโปรแกรมที่มีโค้ดยาวต่อเนื่อง และซับซ้อนให้อยู่ในคลาสและอ๊อพเจ็กต์ย่อย ๆ ที่มีการจัดโครงสร้างไว้เป็นระเบียบ สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ ทำให้นอกจากทำให้การพัฒนาต่อยอดทำได้ง่าย และไม่ซับซ้อนโดยเฉพาะในโปรแกรมขนาดใหญ่แล้ว ยังช่วยประหยัดเนื้อที่และหน่วยความจำในการประมวลผล รวมไปถึงลดเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดในระบบได้อีกด้วย

    3. การวางโครงสร้างของโค้ดให้เหมาะสมกับภาษาโปรแกรมมิ่งที่ใช้

    ทักษะในการวางโครงสร้างของโค้ดอย่างเหมาะสมสำหรับแต่ละภาษา คืออีกหนึ่งทักษะที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ควรจะมี เพื่อให้ได้โค้ดที่สะอาดและชัดเจน ง่ายต่อการทำความเข้าใจ นอกจากจะมีประโยชน์ต่อคนอื่นที่มาอ่านโค้ดแล้ว ตัวคนเขียนเองก็ได้ประโยชน์ด้วย เนื่องจากโค้ดที่อ่านง่าย จะมีการจัดโครงสร้างอย่างเป็นระเบียบ ช่วยอำนวยความสะดวก และเปิดทางในการทำงานร่วมกับคนอื่นเป็นทีมได้ง่ายยิ่งขึ้น


    4. ความรู้ด้านโครงสร้างข้อมูล และอัลกอริทึมการประมวลผล

    ทั้งโครงสร้างและอัลกอริทึม (Algorithm) ในการประมวลผลข้อมูล ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญตั้งแต่เรียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ หรือหลักสูตรไอทีอื่น ๆ อัลกอริทึมถือเป็นวิธีและกลไกในการแก้ปัญหาทางเทคนิคที่ต้องการ โดยเฉพาะในการเขียนโปรแกรม ซึ่งมีหลากหลายอัลกอริทึมที่ควรเรียนรู้ไว้ เนื่องจากแต่ละอัลกอริทึมต่างก็มีคุณสมบัติเฉพาะตัว และใช้ในการแก้ปัญหาคนละจุด เช่น ด้านความเร็ว การจัดการหน่วยความจำ หรือมีข้อจำกัดด้านรูปแบบข้อมูลที่แตกต่างกัน นักพัฒนาซอฟต์แวร์จำเป็นต้องทราบว่าเมื่อไรถึงจำเป็นต้องใช้อัลกอริทึมแบบไหน รวมทั้งควรเขียนอัลกอริทึมในรูปแบบของตัวเอง เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะอย่างที่เผชิญได้ด้วย นอกจากนี้ ยังควรเรียนโครงสร้างข้อมูลรูปแบบต่าง ๆ พร้อมกับวิธีในการจัดการข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลแบบแฮช ลิงค์ เวกเตอร์ ทรี เซ็ต เป็นต้น

    5. ความรู้เกี่ยวกับแพลตฟอร์มสำหรับพัฒนาโปรแกรมอย่างเชี่ยวชาญ

    แพลตฟอร์มสำหรับพัฒนาโปรแกรม หมายถึงสภาพแวดล้อมที่แอพพลิเคชั่นต้องการพัฒนาจะต้องทำงานด้วย ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์ม ต่างก็มีฟีเจอร์จำเพาะที่รองรับซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นแตกต่างกัน จึงจำเป็นจะต้องรู้เกี่ยวกับรูปแบบข้อมูลที่เข้า และออกบนแพลตฟอร์มแต่ละชนิดอย่างละเอียด และเนื่องจากนักพัฒนาซอฟต์แวร์นั้น มักจะพัฒนาแอพพลิเคชั่น บนแพลตฟอร์มไม่กี่แพลตฟอร์มซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ ดังนั้นแล้ว การเชี่ยวชาญทั้งเครื่องมือ และเฟรมเวิร์กที่จำเพาะกับโอเอสแต่ละตัวจึงสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

    6. ความรู้เกี่ยวกับระบบฐานข้อมูล

    สิ่งหนึ่งที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือเรื่องของฐานข้อมูล ไม่ว่าจะเอาดีกับภาษาโปรแกรมมิ่งไหนก็ตาม ก็มักจำเป็นต้องมีส่วนเกี่ยวกับฐานข้อมูลสารพัดแบบอยู่ดี จึงเป็นสาเหตุที่นักพัฒนาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านฐานข้อมูลรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงสามารถจัดการงานพื้นฐานบนฐานข้อมูลได้ด้วย เช่น การสร้างฐานข้อมูล และบริหารจัดการข้อมูลภายในฐานข้อมูลดังกล่าว เป็นต้น

    7. ทักษะการใช้เฟรมเวิร์ก

    แค่เรียนรู้เกี่ยวกับภาษาในการเขียนโปรแกรมนั้นไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วในยุคนี้ แต่จะต้องเรียนรู้วิธีการใช้เฟรมเวิร์กด้วย ซึ่งเฟรมเวิร์กเป็นชุดไลบรารี สำหรับนำมาใช้พัฒนาแอพพลิเคชั่นบนแพลตฟอร์มที่แตกต่างกันได้ และช่วยอำนวยความสะดวกในการเขียนโค้ดให้ง่ายยิ่งขึ้น จึงควรที่จะศึกษาเฟรมเวิร์กสัก 1 ถึง 2 ตัวที่จำเพาะกับภาษาโปรแกรมมิ่งที่ตนเองใช้งานอยู่

    องค์กรแบบไหนที่จำเป็นจะต้องมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์บ้าง


    เนื่องจากในปัจจุบัน โลกกำลังเปลี่ยนไปเป็นยุคดิจิทัล ส่งผลให้เกือบทุกองค์กรพยายามที่จะมีเว็บไซต์ของตนเอง เพื่อใช้งานในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ทำธุรกิจ กิจกรรม หรือสินค้าของตนเองที่สามารถเข้าถึงง่ายมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการสร้างเว็บไซต์ของบุคคลธรรมดา หรือกลุ่มบุคคลเองก็มีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทำให้การจ้างงานตำแหน่งนักพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นที่ต้องการในตลาดเป็นอย่างมาก ทั้งกับองค์กรขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่เอง รวมไปถึงเอเจนซี่โฆษณาต่าง ๆ ที่ต้องการนักพัฒนาซอฟต์แวร์เข้าไปร่วมงาน ดังนั้นแล้ว นักพัฒนาซอฟต์แวร์จึงเป็นสายอาชีพที่มีความต้องการสูง และมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน มาพร้อมอัตรารายได้ที่สูง รวมไปถึงในตลาดตอนนี้เอง ก็มีนักพัฒนาซอฟต์แวร์อยู่ในจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคธุรกิจต่าง ๆ อีกด้วย

    สรุป

    อาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เรียกได้ว่าเป็นอาชีพของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ การวางแผนพัฒนาโปรแกรม ออกแบบฟีเจอร์ รวมไปถึงการบริหารโปรเจกต์ ซึ่งทำงานได้อย่างหลากหลาย และมีความสำคัญเป็นอย่างมากกับธุรกิจที่อยู่ทางสายไอทีต่าง ๆ จึงเรียกได้ว่า พวกเขาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ยุคดิจัตัลในปัจจุบันนี้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไปเลยก็ว่าได้ ทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่เสมอ จนมีบุคลากรแทบไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบัน

    อ้างอิง

    https://th.jobsdb.com/th-th/articles/software-developer/

    https://www.grpasc.com/en/software-developer-คืออะไร-มีหน้าที่อะไร-รวมทักษะพื้นฐานก่อนทำงาน

    https://www.enterpriseitpro.net/software-developer-skills/

    https://blog.getlinks.com/2019/06/28/7-ทักษะจำเป็นสำหรับ-software-developer/ 

    MORE ARTICLES

    0 Comment