×

START A PROJECT

We are here to build a high-quality extension for brands to serve your consumers.

    By HOCCO - 10 July 2023

    Digital Products คืออะไร ธุรกิจควรทำหรือไม่ และจะเริ่มต้นทำได้อย่างไร

    จากการเปลี่ยนแปลงของผู้คนที่เริ่มเข้าสู่ยุคออนไลน์กันมากขึ้น อุปกรณ์ IT ต่าง ๆ จึงกลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน กิจกรรมสันทนาการ หรือการซื้อสินค้าต่าง ๆ นั่นจึงเกิด Digital Product ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้คน เข้าถึงได้ง่ายในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งรวมสิ่งเหล่านั้นมาอยู่ในที่ ๆ เดียว ภายในอุปกรณ์ IT ยอดนิยมอย่างมือถือและคอมพิวเตอร์

    Digital Products หนทางใหม่ในการขายสินค้าที่ไปได้ไกลยิ่งขึ้น


    Digital Product คือ สินค้าที่อยู่ในรูปแบบของดิจิทัล ต้องใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ในการสร้างขึ้นมา ซึ่งจับต้องไม่ได้และเราใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ ยกตัวอย่างเช่น E-Book เกมส์ ซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน รวมไปถึงบริการออนไลน์ต่าง ๆ ที่เข้าถึงได้ง่าย 

    ทำไมธุรกิจถึงควรลงไปร่วมในตลาด Digital Products

    เพราะอะไร ทำไมธุรกิจจึงต้องสนใจ และลงไปร่วมในตลาดของ Digital Products นั่นก็เพราะ ตัว Digital Products มีคุณสมบัติเหมือนสินค้าทั่วไป กล่าวคือสามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้ไม่น้อยไปกว่าสินค้าธรรมดา แต่ตัวมันเองเป็นสินค้าที่ไม่มีน้ำหนัก และสามารถเดินทางได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเสียค่าขนส่ง ไม่ต้องทำการเก็บรักษา ไม่จำเป็นจะต้องมีโกดังสินค้า ฯลฯ

    และต้นทุนการผลิตของ Digital Products ก็เกิดขึ้นครั้งแรกครั้งเดียวในตอนต้นของการผลิต ทำให้ต้นทุนสินค้าจะต่ำลงเรื่อย ๆ หากยอดขายเพิ่มขึ้น โดยที่ยังสามารถขายในราคาเดิมได้ ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการเขียนหนังสือ ทำเกมส์ ทำเพลง หรือการทำคอร์สอบรมขายออกไป ประกอบกับสังคมในปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนกันเกือบทุกคน จึงเป็นการง่ายที่ Digital Products จะเข้าได้ถึงคนส่วนใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าผู้ใช้ที่ซื้อสินค้านั้นมาจะทำอะไรอยู่ก็ตาม

    ข้อดีของการทำ Digital Products

    - มีค่าใช้จ่ายในการผลิตที่ต่ำ

    Digital Product คือผลงานสร้างสรรค์ที่ขายออนไลน์ ผู้ผลิตจึงไม่จำเป็นต้องเก็บสต็อก หรือจัดการกับค่าจัดส่งแต่อย่างใด ซึ่งต้นทุนการผลิตเกิดขึ้นเพียงครั้งแรกที่ผลิตสินค้านั้นออกมา

    - ได้กำไรสูง

    เนื่องจากการผลิต Digital Product ไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกิดซ้ำ (Recurring Cost) คือผลิตเพียงครั้งเดียว และยิ่งมีคนซื้อมากเท่าไหร่ กำไรก็จะยิ่งสูงขึ้นในอนาคต แม้จะมีการทำโปรโมชั่นลดราคาก็ตาม

    - สามารถจัดการออเดอร์ด้วยระบบอัตโนมัติ

    ถ้าหากธุรกิจวางขายกับแพลตฟอร์มที่มีการจัดการที่ดีแล้ว ก็แทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะระบบจะจัดการออเดอร์ให้โดยอัตโนมัติเมื่อมีคนซื้อ ผู้ผลิตเพียงแค่นั่งรอรับเงินอย่างเดียว

    - มีช่องทางการขายที่หลากหลาย

    นอกจากจะวางขายบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ แล้ว ทุกวันนี้ยังมีวิธีการขาย Digital Product อีกมากมาย ทั้งผ่าน Line หรืออีเมล เป็นต้น ไม่เหมือนการเปิดหน้าร้านแบบออฟไลน์ที่ต้องไปเสียค่าเช่า

    ความท้าทายของการขาย Digital Product

    - ธุรกิจต้องแข่งกับ Free Content ที่มีอยู่มากมาย

    นี่คือความท้าทายอย่างแรกของผู้ผลิต เนื่องจากในปัจจุบันมี Free Content เต็มไปหมด แล้วจะทำอย่างไรให้คนซื้อยอมจ่ายเงินมาซื้อของของเราได้ เคล็ดลับคือธุรกิจจะต้องสร้างงานที่ไม่เหมือนใคร และอาจจะต้องหากลุ่มลูกค้าของตัวเองให้เจอ ตรงนี้อาจจะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ก็ได้ แล้วเลือกวิธีการสื่อสารและเผยแพร่สินค้านั้นให้ถูก

    สินค้าอาจจะถูกปลอมแปลงหรือขโมยไปใช้ได้ง่าย

    เพราะโลกออนไลน์นั้นกว้างขวางและเชื่อมต่อหากันได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว ซึ่งแน่นอนว่าเป็นแหล่งรวมคนทุกประเภท ทำให้สินค้าอาจจะถูกปลอมแปลงหรือขโมยไปใช้ได้ จึงจำเป็นจะต้องระมัดระวัง และมีการวางระบบป้องกัน รวมไปถึงคอยติดตามอยู่เสมอว่ามีสินค้าปลอมแปลงระบาดออกไปหรือไม่

    - แต่ละแพลตฟอร์มอาจมีข้อบังคับในการขายที่แตกต่างกัน

    ด้วยความที่แต่ละแพลตฟอร์มก็มีข้อกำหนดไม่เหมือนกัน ผู้ผลิตอาจจะต้องทำสินค้าตัวเองให้มีความยืดหยุ่น หรือเลือกไปเลยว่าแพลตฟอร์มไหนที่ตรงกับสินค้าและฐานลูกค้าของธุรกิจมากที่สุด

    เริ่มต้น Digital Products อย่างไร สำหรับธุรกิจที่พึ่งเริ่มจะทำ


    1. วิเคราะห์ตลาดและเตรียมการ

    อย่างแรกสุดของการเริ่มสร้างผลิตภัณฑ์ดิจิทัล คือการถอยออกมามองภาพรวมหนึ่งก้าว จากนั้นปรึกษาหารือกับลูกค้าหรือ Product Owner เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจและคู่แข่งในตลาด รวมถึงทำความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการและเป้าหมายของลูกค้า

    2. หาไอเดียในการสร้างโซลูชัน

    หลังจากที่กระบวนการรวบรวมข้อมูลเสร็จสิ้นแล้ว ธุรกิจจำเป็นต้องคิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และฟีเจอร์ต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจว่าควรจะมีฟีเจอร์อะไร และต้องทำอย่างไรบ้าง โดยจะต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้

    แอปพลิเคชันที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในความคิดของธุรกิจเป็นอย่างไร

    ธุรกิจจะแก้ปัญหาอะไรได้บ้างในกระบวนการนี้

    ผู้ใช้คาดหวังอะไรจากผลิตภัณฑ์ของธุรกิจ

    ขั้นตอนนี้จะช่วยประหยัดเวลาและทรัพยากรได้ในระยะยาว เนื่องจากเราสามารถจัดการกับปัญหาหรือความต้องการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงหลีกเลี่ยงการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาของลูกค้าได้ในอนาคต

    3. พัฒนาผลิตภัณฑ์

    เมื่อ Digital Products ตัวต้นแบบพร้อมแล้ว ก็ถึงเวลาของการออกแบบ ในขั้นตอนนี้นักออกแบบจะเริ่มลงมือออกแบบผลิตภัณฑ์ของเรา ซึ่งจำเป็นจะต้องปรึกษากับนักออกแบบว่ามี Requirement อะไรบ้างที่จำเป็นสำหรับการออกแบบ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้จนเสร็จสิ้น ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของผลิตภัณฑ์ที่เลือกสร้างขึ้นมา และต้องการเปิดตัวในตลาด

    รวมไปถึงอาจมีการนำ Interaction Design ที่มีเอกลักษณ์ รวมถึง Transition และ Loading Animation มาใช้ในช่วงพัฒนานี้ เพื่อเพิ่มความมีชีวิตชีวาให้กับตัว Digital Products และนำไปทดสอบว่าผู้ใช้พึงพอใจมากแค่ไหน โดยการนำข้อมูลที่ได้จากสองขั้นตอนแรกมาใช้ จะทำให้บริษัทสามารถปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ได้ โดยยึดประสบการณ์การใช้งาน หรือผู้ใช้เป็นหลักสำคัญในการพัฒนา

    4. เปิดตัวผลิตภัณฑ์

    ในขั้นตอนนี้ ธุรกิจจะพร้อมประกาศให้ผู้ใช้รู้จักผลิตภัณฑ์แล้ว แม้ว่าจะต้องใช้เวลามากมายไปในขั้นตอนก่อนหน้า แต่เราก็อาจต้องจัดการกับอุปสรรคบางอย่างก่อนจะเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งธุรกิจจำเป็นต้องเริ่มจากการวางตารางงานที่อาจมี Preview หรือ Landing Page อีเมลโฆษณา การโปรโมตบนโซเชียลมีเดีย การให้คะแนนช่วงก่อนเปิดตัว หรือการทำแคมเปญเพื่อโปรโมตสักชุดหนึ่ง

    และการเปิดตัว Digital Products ใหม่ ๆ ของธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราจำเป็นจะต้องวางแผนล่วงหน้า เพื่อดึงดูดให้ผู้คนในกลุ่มที่เราหาข้อมูลมาในขั้นตอนแรก ๆ สนใจที่จะซื้อสินค้าของเราไปใช้งาน

    5. ดูแลรักษาและให้ความช่วยเหลือ

    การดูแลรักษาและให้ความช่วยเหลือเป็นสิ่งที่มักถูกมองข้าม ทั้งยังไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจมากนักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ถึงแม้ว่านี่จะเป็นขั้นตอนที่ยาวนานที่สุด หากว่าผลิตภัณฑ์ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าธุรกิจไม่เตรียมตัวและเตรียมทรัพยากรที่จำเป็นให้พร้อม ก็อาจจะต้องจ่ายมากกว่าที่ใช้ไปในการพัฒนาและเปิดตัวเสียอีก

    โดยคำแนะนำจากทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัลในขั้นตอนนี้ จะช่วยให้ทีมอื่น ๆ สามารถรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้ในอนาคต รวมถึงสามารถจัดการงานส่วนนี้ได้ จากการค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง อ่านรีวิวของลูกค้า และนำข้อมูลมาวิเคราะห์


    สรุป

    Digital Product คือสินค้าที่อยู่ในรูปแบบของดิจิทัลจับต้องไม่ได้ แต่ก็สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบถ้วนไม่ต่างจากสินค้าปกติ ซึ่งข้อดีของการทำ Digital Product คือไม่จำเป็นต้องมีคลังสินค้า หมดปัญหาเรื่องการจัดส่ง โดยเราสามารถลงทุนในการพัฒนาโปรแกรม หน้าตาเว็บไซต์ หรือเนื้อหา Content ต่าง ๆ เพียงแค่ครั้งเดียว หลังจากนั้น เราสามารถเข้าถึงผู้คนได้เป็นจำนวนมากในการขายสินค้า หรือบริการของเราได้นั่นเอง

    อ้างอิง

    https://www.facebook.com/borntodev/photos/a.830302417028053/3751509268240672/?type=3

    https://kooper.co/th-perks-of-selling-digital-products/

    https://plaradise.com/10-digital-products-online-business/

    https://grasp.asia/blog/5-ความลับในการสร้างสรรค์-digital-product-ให้คนรู้สึกรักและบอกต่อ

    https://www.ceochannels.com/digital-products/

    https://panumes.wixsite.com/nspirationblog/single-post/2015/04/23/ด-จ-ท-ลโปรด-กส-ค-ออะไร

    https://morphos.is/th/blog/digital-product-development-process 

    0 Comment