นับเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานครั้งยิ่งใหญ่หลังจากการเกิดโรคระบาดในปี 2019 ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน กว่าสามปีที่ผู้คนบนโลกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน เปลี่ยนแปลงทุกกระบวนการใช้ชีวิต โดยเฉพาะชีวิตการทำงานที่ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนไปทั้งองค์กรและลูกจ้าง ในอดีตประมาณปี 1920 มนุษย์วัยทำงานทุกคนเริ่มต้องทำงานต่อสัปดาห์ 5 วัน วันละ 8 ชั่วโมงในที่ทำงาน และเป็นแบบนั้นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้โดยต่างพากันคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ถูกต้องและสมควรแล้ว แต่แล้วก็ถึงยุคที่ต้องเปลี่ยนผ่านการทำงานแบบเดิม ๆ หลายคนบอกว่าการมาของโรคระบาดทำให้การทำงานในอนาคตจะเปลี่ยนไป ซึ่งจริง ๆ แล้วอะไรกันแน่ที่กำลังจะเปลี่ยนและเปลี่ยนไปมากแค่ไหน
รูปแบบการทำงานที่เห็นคุณค่าของกันและกันอยู่เสมอ
หนึ่งสิ่งที่ผมจะพูดถึงในวันนี้ที่จะเปลี่ยนแปลงไปแน่นอนคือสถานที่การทำงาน บริษัทต่าง ๆ ต้องวางแผนอย่างหนักถึงการปรับเปลี่ยนที่ยากจะให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมแล้ว นั่นคือการทำงานแบบ Remote กว่าสองปีที่ผู้คนทำงานนอกสถานที่โดยไม่ได้เข้าไปที่ออฟฟิศเลยนั้น ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป การทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น อาจส่งผลถึงเรื่อง Mental Health ที่ดีขึ้นด้วย ซึ่งหากบริษัทพยายามดึงดันจะนำพนักงานกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ 100% เหมือนอย่างที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ จากผลสำรวจพบว่าพนักงานส่วนใหญ่พร้อมที่จะลาออกและแบกความสามารถทุกอย่างที่ตนเองมีไปหาที่ทำงานใหม่ที่ยืดหยุ่นและตอบสนองการใช้ชีวิตของตนเองมากขึ้น
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงของบริษัทและพนักงานว่าแบบไหนจะเหมาะกับการทำงานของบริษัทมากกว่า แบบไหนที่จะส่งผลดีทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่ง Hybrid Working น่าจะเป็นสิ่งที่หลาย ๆ ออฟฟิศเลือกใช้กันมากที่สุด อาจแบ่งเวลาเข้าออฟฟิศเป็นสัปดาห์เว้นสัปดาห์ หรืออาจจะเข้าออฟฟิศทุกสัปดาห์เหมือนเดิมแต่เข้าแค่สัปดาห์ละ 1 ถึง 2 วัน เพื่อการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้นและจะสามารถลดความเครียดในการทำงานได้มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งถ้าองค์กรไหนเห็นถึงความสำคัญของสิ่งพนักงานของตนเองให้ความสำคัญก็จะทำให้ผลลัพธ์ของการทำงานดีขึ้นได้
ความยืดหยุ่นคือเส้นทางของความอยู่รอด
และยังมีการอ้างอิงการสำรวจที่สำคัญอย่าง Future of Work and Skills Survey ของ PWC ที่ทำแบบสอบถามผู้บริหารและพนักงานฝ่ายทรัพยากรบุคคลกว่า 4,000 รายใน 26 ประเทศทั่วโลกถึงรูปแบบการทำงาน กว่าร้อยละ 57 ของผู้ตอบแบบสำรวจ กล่าวว่าองค์กรมีประสิทธิภาพของแรงงาน เป้าหมาย และผลลัพธ์การทำงานที่ดีขึ้นในช่วงที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นแบบ Hybrid Working มีเพียงแค่ 4% เท่านั้นที่บอกว่าองค์กรของตนเองมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลลดลง
นอกจากรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป รูปแบบการวัดผลประเมินผลซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งขององค์กรก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย การวัดแบบขาดลามาสายเหมือนที่ผ่านมาอาจะใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป ควรมุ่งเน้นไปที่การกำหนดเป้าหมายรายบุคคลให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร และเน้นดูที่ผลงาน เปลี่ยน Mindset จากการจับผิดมาเป็นการให้ความช่วยเหลือและคำปรึกษาแทน เพื่อให้ผลลัพธ์นั้นเป็นไปตามเป้าหมายขององค์กร
ทำงานเพื่อใช้ชีวิต ไม่ใช่มีชีวิตเพื่อทำงาน
นอกจากความยืดหยุ่นของสถานที่และรูปแบบการประเมินผลแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ควรคำนึงถึงมาก ๆ คือวิธีการทำงาน สิ่งนี้กำลังเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ และจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดจากแรงกดดันทางสังคมปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ทำให้ผู้คน Burnout อย่างหนักหน่วง ซึ่งหลาย ๆ บริษัทควรเห็นถึงปัญหาของการทำงานหนักเกินสมควร ปรับลดชั่วโมงการทำงานจาก 8 เหลือ 6 ชั่วโมง หรืออย่างน้อย ๆ หากลดชั่วโมงการทำงานไม่ได้ก็ควรลดชั่วโมงการประชุมที่ยืดยาวลงไป สิ่งนี้จะสามารถช่วยเหลือในเรื่องของ Mental Health ได้ดียิ่งขึ้น จะทำให้พนักงานรู้สึกสบายใจที่จะทำงาน ซึ่งการทำงานที่หนักเกินไปในยุคนี้ไม่ใช่แค่พนักงานและบริษัทเท่านั้นที่ควรตระหนักรู้ แต่ภาคประชาสังคมและภาครัฐบาลเองควรเห็นถึงปัญหาของการทำงานหนักที่ส่งผลให้ประชากรในประเทศประสบพบเจอกับปัญหารุมเร้าที่เลวร้ายทั้งสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตใจด้วย
แม้เราจะบอกว่า “ทุกคนต้องเห็นถึงปัญหาสุขภาพร่างกายและจิตใจของตนเองว่ามันมีค่ามากกว่างาน” แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้คนอีกมากมายที่ไม่อาจหยุดทำงานได้ ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเพียงเพราะต้องใช้เงินในการดำรงชีวิต หากหยุดงานเท่ากับชีวิตนี้ต้องจบลง ดังนั้นการแก้ปัญหาความยืดหยุ่นด้านต่าง ๆ ในการทำงานต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างขนาดใหญ่ที่พอที่จะเข้ามารองรับความต้องการของคนหลาย ๆ กลุ่ม การออกกฎหมายแรงงานที่เป็นธรรม การกระจายค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรมกับทุกวิชาชีพ และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือการควบคุมค่าครองชีพให้สอดคล้องกับรายได้ต่อประชากร ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้หากภาคประชาสังคมและภาครัฐบาลไม่เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่และควรแก้ไขมากเป็นอันดับต้น ๆ
มาถึงตรงนี้แล้วหลายคนน่าจะพอประเมินได้ว่า Hybrid Working นั้นเหมาะกับบริบทขององค์กรตนเองหรือไม่ หลายคนอาจกังวลเรื่องปัญหาหลายอย่างที่จะตามมาหากทำงานที่บ้านอยู่เสมอไม่ว่าจะค่าอินเทอร์เน็ต ค่าใช้ไฟฟ้าที่อาจจะเพิ่มขึ้น อุปกรณ์การทำงานต่าง ๆ ถ้าหากบริษัทไม่มีความพร้อมที่จะแจกจ่ายให้พนักงานไปทำงานที่บ้าน ซึ่งเนื้องานของแต่ละองค์กรล้วนแตกต่างกันไปควรประเมินสถานการณ์ภายในบริษัทว่าเหมาะที่จะจัดการรูปแบบการทำงานในแบบไหน แบบไหนที่จะส่งผลดีต่อการทำงานของพนักงานในขณะเดียวกันก็ต้องตอบสนองเป้าหมายของบริษัทได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน
0 Comment