×

START A PROJECT

We are here to build a high-quality extension for brands to serve your consumers.

    By Kaewklaow Robru - 25 August 2022

    รู้จัก Artificial Intelligence (AI) ในทางการแพทย์

    ถ้าพูดถึง AI หรือปัญญาประดิษฐ์แล้ว หลาย ๆ คนคงนึกไปถึงหลายสิ่งที่อยู่ในวงการไอที หุ่นยนต์ หรืออุปกรณ์พวก Internet of Things ต่าง ๆ แต่จะมีใครบ้างที่นึกถึง AI ที่ถูกใช้งานในวงการอื่น ๆ อย่างเช่นวงการแพทย์ วงการที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนชีวิตของผู้คนในสังคมก็มีการใช้งานระบบ AI อย่างแพร่หลายมากที่สุดอีกวงการหนึ่งเลยก็ว่าได้

    ภาพที่ 1; medical equipment จาก; https://unsplash.com/photos/y5hQCIn1c6o

    ปัจจุบันมีความพยายามนำ AI มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มากขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนในการวินิจฉัยที่เร็วขึ้นไปจนถึงการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ การนำ AI มาใช้ในการดูแลสุขภาพทำให้ประสบการณ์การรักษาพยาบาลของผู้ป่วยมีความก้าวหน้ามากขึ้น AI ทำให้ชีวิตของผู้ป่วย แพทย์ และผู้บริหารโรงพยาบาลง่ายขึ้น เช่นการแบ่งเบาภาระด้านการทำงานแบบ routine ที่มนุษย์ทำกันโดยทั่วไป แต่ใช้เวลาน้อยลงและมีค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย

    ตัวอย่าง AI ที่ถูกพัฒนาใช้งานในทางการแพทย์

    Viz.ai เป็นผู้นำด้าน AI ที่ประยุกต์ในการดูแลสุขภาพ เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการปรับปรุงการทำงานขั้นพื้นฐานในด้านดูแลสุขภาพผู้ป่วยผ่าน AI ซอฟต์แวร์อัจฉริยะที่จะช่วยลดเวลาในการรักษาและปรับปรุงการเข้าถึงการดูแลของแพทย์

    ผลิตภัณฑ์หลักของ Viz.ai คือตัวที่มีชื่อว่า Viz LVO เป็น AI ที่ใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้เชิงลึกแบบขั้นสูง เพื่อสื่อสารข้อมูลที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ส่งตรงไปยังผู้เชี่ยวชาญที่สามารถเข้าไปช่วยรักษาได้ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2018 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้รับอนุญาตจาก De Novo สำหรับการใช้ Viz LVO ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการตรวจสอบและการแจ้งเตือนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยเป็นครั้งแรก และในปี 2020 Viz LVO ได้กลายเป็นซอฟต์แวร์ AI ตัวแรกที่ได้รับการอนุมัติจาก CMS ที่มีส่วนช่วยในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอีกด้วย

    ภาพที่ 2; Intelligent Care Coordination is the future of patient care. จาก; https://www.viz.ai/

    จากความก้าวหน้าของพลังการคำนวณที่จับคู่กับข้อมูลจำนวนมหาศาลที่สร้างขึ้นในระบบการดูแลสุขภาพ ทำให้ปัญหาทางการแพทย์หลายอย่างถูกคลี่คลายด้วยการใช้งาน AI ที่ใช้งานอัลกอริธึมที่แม่นยำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ป่วยและแพทย์โดยทำให้การวินิจฉัยตรงไปตรงมายิ่งขึ้น

    ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2018 นักวิจัยจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลและวิทยาลัยแพทยศาสตร์ของประเทศเกาหลีใต้ ได้พัฒนาอัลกอริธึม AI ที่เรียกว่า DLAD (Deep Learning based Automatic Detection) เพื่อวิเคราะห์ภาพเอ็กซ์เรย์ทรวงอกและตรวจหาการเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติ เช่น มะเร็งที่อาจเกิดขึ้น (ภาพที่ 3 - แผงด้านซ้ายแสดงภาพที่ป้อนเข้าสู่อัลกอริทึม แผงด้านขวาแสดงบริเวณของเซลล์ที่อาจเป็นอันตราย ตามที่ระบุโดยอัลกอริทึม ซึ่งแพทย์ควรตรวจสอบอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น) ประสิทธิภาพของอัลกอริธึมถูกเปรียบเทียบกับความสามารถในการตรวจจับของแพทย์หลายคนในภาพเดียวกัน และมีประสิทธิภาพดีกว่าแพทย์ 17 คนจาก 18 คนเลยทีเดียว (อ้างอิง: Daniel Greenfield, Harvard University)

    ภาพที่ 3; Applications of AI algorithms in medicine. จาก; https://sitn.hms.harvard.edu/flash/2019/artificial-intelligence-in-medicine-applications-implications-and-limitations

    สำหรับการใช้งาน AI ในการผ่าตัดอาจใช้เวลาในการเรียนรู้นานกว่าความเชี่ยวชาญทางการแพทย์อื่น ๆ สาเหตุหลักมาจากการขาดข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการนำ AI ไปใช้ในการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบัน AI ถูกมองว่าเป็นตัวช่วยเสริมและไม่ใช่เครื่องมือที่จะมีความสามารถมาแทนที่ทักษะของศัลยแพทย์ได้

    และแม้ว่าศักยภาพ AI จะยังห่างไกลจากการทำงานผ่าตัดอยู่มาก แต่การใช้ AI ในทางการแพทย์ได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสำหรับแพทย์และผู้ป่วยเหมือนกันแม้ยังไม่ถึงขั้นการผ่าตัดแต่ AI ก็มีส่วนช่วยในการวางแผนการผ่าตัดที่ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องผ่านการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) อัลตราซาวนด์และการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) ในขณะที่การผ่าตัดเล็ก (MIS) ก็มีการทำงานร่วมกับ robotic assistance ที่ส่งผลให้การบาดเจ็บจากการผ่าตัดลดลงและการฟื้นตัวของผู้ป่วยดีขึ้นอีกด้วย (อ้างอิง: The power of AI in surgery, Dr. Liz Kwo)

    ภาพที่ 4; cofotoisme/Getty Images. จาก; https://www.mobihealthnews.com/news/contributed-power-ai-surgery

    ในอนาคตมาตรฐานทางการแพทย์อาจเดินทางได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็เป็นได้ อาจมีเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยมีความสามารถในการใช้ตัวช่วยจาก AI ก่อนเข้าพบแพทย์ และดูเหมือนว่ายุคของการวินิจฉัยที่ผิดพลาดจะหมดไปเมื่อมีตัวช่วยที่ดีอย่าง AI เข้ามา อย่างไรก็ตามแม้ว่าอัลกอริธึมบางตัวสามารถทำได้ดีกว่าแพทย์ในหลาย ๆ งาน แต่ก็ยังต้องรวมข้อมูลเข้ากับการปฏิบัติทางการแพทย์แบบวันต่อวันเพราะถือว่าเป็นข้อมูลที่ละเอียดอ่อน และรวมถึงยังก็มีข้อกังวลด้านกฎระเบียบมากมายที่ต้องแก้ไขก่อนที่จะใช้ AI อย่างเต็มรูปแบบ และความรู้ความเข้าใจของมนุษย์ที่มีต่อ AI ก็เป็นประเด็นใหญ่ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจและเชื่อใจว่า AI จะทำงานได้ดีกว่ามนุษย์จริง ๆ 

    0 Comment