ด้วยการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่ก้าวไกลในยุคปัจจุบัน ทำให้คอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน และการทำงานของมนุษย์มากยิ่งขึ้น และนั่นยังรวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่าซอฟต์แวร์ (Software) ที่เป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่เราต้องการให้มันทำ แล้วซอฟต์แวร์คืออะไรกันแน่? สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อภาคธุรกิจขนาดไหน เราจะไปดูกัน
ซอฟต์แวร์ คือ ชุดคำสั่งหรือโปรแกรมที่ใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่จะทำให้ตัวคอมพิวเตอร์นั้นทำงานได้ตามจุดประสงค์ที่ผู้ใช้ต้องการ เขียนขึ้นโดยการใช้ภาษาคอมพิวเตอร์จากนักเขียนโปรแกรม เนื่องจากคอมพิวเตอร์นั้นมีการทำงานตามขั้นลำดับ ภาษาที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม ก็จะมีลักษณะรูปแบบเฉพาะ ที่จะสามารถทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้ เช่น ภาษาเบสิก ภาษาโคบอล ภาษาปาสคาล เป็นต้น
ซึ่งเมื่อติดตั้งซอฟต์แวร์เข้าไปในคอมพิวเตอร์เครื่องดังกล่าวแล้ว ตัวซอฟต์แวร์นี่แหละ ที่จะเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่สั่งการให้คอมพิวเตอร์ทำการประมวลผลโดยอัตโนมัติ ช่วยให้มนุษย์ไม่ต้องเข้าไปวุ่นวายในการจัดลำดับ หรือขั้นตอนการประมวลอันแสนยุ่งยากของมัน ทุ่นเวลาในการทำงานลงไปได้เป็นจำนวนมาก
ประเภทของซอฟต์แวร์ในปัจจุบัน ซอฟต์แวร์ที่มีผู้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานกับคอมพิวเตอร์นั้นมีมากมาย ซอฟต์แวร์เหล่านี้อาจได้รับการพัฒนาโดยผู้ใช้งาน ผู้พัฒนาระบบ หรือผู้ผลิตจำหน่าย ซึ่งในปัจจุบัน หากแบ่งแยกชนิดของซอฟต์แวร์ตามสภาพการทำงานแล้ว ซอฟต์แวร์จะแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภท ได้แก่ ซอฟต์แวร์ระบบ และซอฟต์แวร์ประยุกต์
ซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) ซอฟต์แวร์ระบบ คือ ซอฟต์แวร์ที่ดูแลจัดการกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในระบบ และช่วยในการจัดการกับระบบคอมพิวเตอร์ให้เสถียร ซึ่งจะคอยช่วยจัดการอุปกรณ์รับเข้าและส่งออก การรับข้อมูลจากแผงแป้นอักขระ การแสดงผลบนจอภาพ การนำข้อมูลออกไปพิมพ์ยังเครื่องพิมพ์ การจัดเก็บข้อมูลเป็นแฟ้ม การเรียกค้นข้อมูล และการสื่อสารข้อมูล โดยซอฟต์แวร์ระบบที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน คือระบบปฏิบัติการ (Operating System) เช่น เอ็มเอสดอส ยูนิกซ์ โอเอสทู วินโดวส์ หรือลีนุกซ์ ที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ง่ายนั่นเอง
ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software) ซอฟต์แวร์ประยุกต์ คือ โปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้งานเฉพาะด้าน ไม่เกี่ยวข้องกับการควบคุมระบบของคอมพิวเตอร์ แต่ทำขึ้นเพื่อการสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ต้องการ ซึ่งจะทำงานโดยผ่านการเรียกใช้งานจากซอฟต์แวร์ระบบอีกทีหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ซอฟต์แวร์ประมวลคำ ซอฟต์แวร์จัดเก็บภาษี ซอฟต์แวร์สินค้าคงคลัง ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน ซอฟต์แวร์กราฟิก ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล เป็นต้น
ซึ่งในปัจจุบัน ซอฟต์แวร์ประยุกต์ได้รับความนิยมใช้งานอย่างแพร่หลายเป็นอย่างมาก จากขีดความสามารถของซอฟต์แวร์ประยุกต์นั้น ๆ เพราะซอฟต์แวร์ที่ผลิตออกจำหน่าย ต่างก็พยายามแข่งขันกันหลาย ๆ ด้าน เช่นเรียนรู้และใช้งานได้ง่าย สนับสนุนให้ใช้กับเครื่องพิมพ์ได้ดี มีคู่มือการใช้ซอฟต์แวร์ที่อ่านเข้าใจง่าย ให้วิธีหรือขั้นตอนที่อธิบายไว้อย่างชัดเจน และมีระบบโอนย้ายข้อมูลเข้าออกกับซอฟต์แวร์อื่นได้ง่าย ซึ่งจะแบ่งได้เป็นอีก 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ
แบ่งตามการผลิตซอฟต์แวร์ 1.1 ซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานเองโดยเฉพาะ 1.2 ซอฟต์แวร์ประยุกต์สำเร็จรูปที่หาซื้อได้ทั่วไป แบ่งตามการใช้งานซอฟต์แวร์ 2.1 ซอฟต์แวร์ประยุกต์สำหรับใช้งานในด้านธุรกิจ 2.2 ซอฟต์แวร์ประยุกต์สำหรับใช้งานในด้านกราฟิกและมัลติมีเดีย 2.3 ซอฟต์แวร์ประยุกต์สำหรับใช้งานในบนเว็บไซต์และการติดต่อสื่อสาร
1. ซอฟต์แวร์สำหรับการวางแผนทรัพยากรองค์กร ซอฟต์แวร์สำหรับการวางแผนทรัพยากรองค์กร หรือ ERP Software จะช่วยให้องค์กรสามารถจัดการกระบวนการทางธุรกิจต่าง ๆ ทั้งการขายสินค้า ทรัพยากรบุคคล ห่วงโซ่อุปทาน การจัดการโครงการ และเงินเดือนจากภายในระบบรวมเป็นศูนย์เดียวกัน ซึ่งองค์กรต่าง ๆ จะใช้งานซอฟต์แวร์ ERP เหล่านี้เพื่อ...
- จัดการข้อมูลองค์กรจากแหล่งต่าง ๆ ไปที่ส่วนกลาง - ทำงานโดยอัตโนมัติ และทำให้กระบวนการทางธุรกิจง่ายขึ้น - ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเพิ่มผลกำไร 2. ซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ องค์กรควรใช้ซอฟต์แวร์การจัดการลูกค้าสัมพันธ์ หรือ CRM และซอฟต์แวร์ศูนย์ติดต่อเพื่อจุดประสงค์ในด้านของ
- จัดการความสัมพันธ์กับลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น - พัฒนาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความต้องการของลูกค้าด้วยข้อมูลที่เรามี - มอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นแก่ลูกค้าปัจจุบัน - ตัดสินใจโดยอิงข้อมูลสำหรับกลุ่มเป้าหมายใหม่ ด้วยการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าที่มีอยู่ และกลุ่มที่อาจเป็นลูกค้าเอาไว้ในที่เดียว ธุรกิจสามารถปรับแต่งการสื่อสารของตนเอง และสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยสามารถนำข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ มารวมกันเพื่อสร้างการส่งข้อมูลการขายและคาดการณ์ด้านการเงินได้อีกด้วย
3. ซอฟต์แวร์สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลข่าวกรองธุรกิจ ซอฟต์แวร์สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลข่าวกรองธุรกิจ คือซอฟต์แวร์ช่วยที่รวบรวมข้อมูลที่เก็บไว้ในหลายแหล่ง จากระบบคลาวด์ ศูนย์ข้อมูลในองค์กร และสเปรดชีต (Spreadsheet) มาเพื่อวิเคราะห์และรายงานให้กับพนักงานภายในองค์กร ให้ได้รับมุมมองของข้อมูลที่สอดคล้องกันผ่านแดชบอร์ด (Dashboard) ซึ่งซอฟต์แวร์สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลข่าวกรองธุรกิจยังเน้นรูปแบบ และแนวโน้มเพื่อให้ทีมสามารถกระทำหลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ อย่างได้อย่างง่ายดาย ยกตัวอย่างเช่น
- รับข้อมูลเชิงลึกของกระบวนการทางธุรกิจที่มีมูลค่า - ตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ได้อย่างมั่นใจ - หลีกเลี่ยงการใช้เวลานานในการวิเคราะห์ด้วยตนเอง 4. ซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการห่วงโซ่อุปทาน โซ่อุปทาน หรือเครือข่ายโลจิสติกส์ในปัจจุบัน เป็นเครือข่ายของผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ โลจิสติกส์ และร้านค้าปลีกที่ทำงานร่วมกัน เพื่อส่งมอบสินค้าและบริการที่มีความซับซ้อนสูง ทุกองค์กรต้องการโครงสร้างดิจิทัลพื้นฐานและระบบคลังสินค้า ที่มีประสิทธิภาพ สำหรับการประสานงานและจัดการงานห่วงโซ่อุปทาน ยกตัวอย่างเช่น
- การติดตามสินค้า - การปรับปรุงการผลิต - การจัดการใบแจ้งหนี้ของซัพพลายเออร์ - การตรวจสอบซัพพลายเออร์
5. ซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการทรัพยากรบุคคล ซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการทรัพยากรบุคคล เป็นซอฟต์แวร์ที่ถูกสร้างมาเพื่อการบริหารทรัพยากรมนุษย์ หรือ HR โดยทั่วไปจะประกอบด้วยเครื่องมือในการดูแล และควบคุมการทำงานของทรัพยากรบุคคล เช่น
- การสรรหาและการฝึกอบรม - การจัดการวันหยุดประจำปี - บัญชีเงินเดือน - การรักษาคนเก่งและสร้างความผูกพันระหว่างองค์กรกับพนักงาน โดยองค์กรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กร ด้วยการนำข้อมูลของทุกหน้าที่ ที่แผนกทรัพยากรบุคคลขององค์กรในปัจจุบันกำกับดูแลอยู่ มาวิเคราะห์และประเมินสำหรับการพัฒนาองค์กรให้ก้าวไกลมากยิ่งขึ้น
10 ตัวอย่าง ซอฟต์แวร์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการ (Operating System) 1. Windows
เป็นซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทไมโครซอฟต์ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน เพราะใช้งานง่าย และมีโปรแกรมประยุกต์ให้ใช้หลากหลาย สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีการพัฒนา Windows NT ที่รองรับหน่วยความจำและการทำงานหลายอย่าง และมีรุ่นล่าสุดคือ Windows 11 ที่ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของไมโครซอฟต์ บริษัทนี้ยังมีผลิตภัณฑ์และบริการหลายประการ เช่น Microsoft Surface, Microsoft XBOX, และ Microsoft Office เป็นต้น
2. macOS
ซึ่งก่อนหน้านี้เรียกว่า macOS X และต่อมาเรียกว่า OS X เป็นซอฟต์แวร์ระบบจากบริษัท Apple ที่ออกแบบมาสำหรับคอมพิวเตอร์ Mac ซึ่งสร้างขึ้นบนพื้นฐานระบบปฏิบัติการ UNIX อันแข็งแกร่ง จึงได้รับการออกแบบทางวิศวกรรมมาให้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ฮาร์ดแวร์ทำได้อย่างเต็มที่โดยได้รับการยอมรับจากนักพัฒนาระบบและนักวิจารณ์จากทั่วโลก ว่าเป็นระบบซอฟต์แวร์ระบบที่มีรูปลักษณ์ที่สวยงามน่ามอง ใช้งานง่าย และมีความเสถียร
3. Android
ระบบปฏิบัติการที่เป็นซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มสำหรับอุปกรณ์พกพา เช่น โทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ต(Tablet), คอมพิวเตอร์และเน็ตบุ๊กที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการลินุกซ์ (Linux) พัฒนาขึ้นมาโดยกูเกิล กูเกิลแอนดรอยด์นั้นได้เปิดให้นักพัฒนา สามารถเข้ามาจัดการเขียนโค้ดต่าง ๆได้ด้วยภาษาจาวา และเขียนควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านทางจาวาไลบลารี่ที่ทางกูเกิลพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะ (Google-developed Java libraries) โปรแกรมต่างๆ ที่รันบนกูเกิลแอนดรอย์สามารถเขียนได้ด้วยภาษาซี(C) และภาษาอื่น จึงเป็นที่นิยมมากเพราะว่ามีโทรศัพท์หลาย ๆ ค่าย ที่ต้องพึ่งระบบการแอนดรอยด์ในการทำงาน และยังสามารถทำงานได้ดีกับผลิตภัณฑ์อื่นจากกูเกิล
4. iOS
ระบบปฏิบัติการไอโอเอส เป็นระบบปฏิบัติการสำหรับ Smartphone (สมาร์ทโฟน) ของ Apple โดยเริ่มต้นพัฒนาสำหรับใช้ในโทรศัพท์ iPhone และได้พัฒนาต่อใช้สำหรับ iPot Touch (ไอพอด ทัช) และ iPad (ไอแพด) โดยระบบปฏิบัติการนี้สามารถเชื่อมต่อไปยัง App Store (แอพสโตร์) สำหรับการเข้าถึงถึง Application (แอพพลิเคชั่น) ซึ่งถ้าพูดถึงความล่ำหน้าของสมาร์ทโฟนต้องเป็น iOS เพราะเป็นสมาร์ทโฟนที่ใช้แบบสัมผัสธ์ ตั้งแต่เริ่มและเป็นเจ้าแรก และยังคงความเป็นเอกลักษณ์ในหลายๆ เรื่อง
ซอฟต์แวร์สำหรับทำงานและสื่อสาร 5. Microsoft Office
เป็นโปรแกรมที่พนักงานส่วนใหญ่จะต้องมีติดเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม Microsoft Word สำหรับพิมพ์งานเอกสาร Microsoft Excel สำหรับใช้ใส่สูตรตารางคำนวณต่างๆ และโปรแกรม PowerPoint สำหรับจัดทำสไลด์พรีเซนต์เทชั่นเพื่อนำเสนองานแก่เจ้านายหรือลูกค้าขององค์กร รวมถึง Outlook ที่ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารผ่านทางอีเมล
6. Microsoft Teams
คือซอฟต์แวร์เพื่อการสื่อสาร ประชุม พูดคุย ติดต่อกันผ่านการออนไลน์ โดยในยุคปัจจุบัน เราใช้งาน Microsoft Teams ในการเรียนการสอน สามารถแชร์สกรีน เปิดไมค์โครโฟน เปิดกล้อง กำหนดค่า ตั้งสิทธิ์ในการใช้งานกันได้ เหมาะสำหรับการเรียนการสอนในยุค New Normal ที่อาจจะต้องรักษาระยะห่างกัน และยังสามารถใช้ได้ทั้ง Desktop, Mobile หรือ Tablet ได้อีกด้วย
7. Google Workspace
ชื่อเดิมของ Google Workspace คือ Google G Suite เป็นชุดแอปพลิเคชันการทำงานแบบออนไลน์ ในรูปแบบ Software as a Services พัฒนาขึ้นโดยบริษัท Google เพื่อช่วยให้องค์กรและธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็ก หรือใหญ่สามารถทำงานร่วมกันและจัดการงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเครื่องมือต่างๆ อย่าง Gmail, Doc, Google Drive, Meet และอื่นๆ อีกมากมาย และด้วยการทำงานทั้งหมดของ Google Workspace จะอยู่บนระบบคลาวด์ (Cloud) เพียงแค่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ก็สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ นอกจากนี้ยังรองรับการใช้งานผ่านอุปกรณ์พกพาที่ได้อีกด้วย
ซอฟต์แวร์ด้านความบันเทิงและออกแบบ 8. Visual Studio Code
Visual Studio Code หรือ VS Code คือ โปรแกรม Code Editor ของ Microsoft ที่ใช้สำหรับเขียน แก้ไขและตรวจสอบความผิดปกติของโค้ด คุณสมบัติของโปรแกรมมีลักษณะเบา มีประสิทธิภาพสูง มีส่วนขยาย (Extension) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและสามารถเขียนโค้ดได้หลากหลายภาษาไม่ว่าจะเป็น JavaScript, TypeScript, Python, C++ และ อื่น ๆ รวมทั้งรองรับการใช้งานทั้ง Windows, MacOS และ Linux และมีการพัฒนาออกมาในรูปแบบของ OpenSource จึงสามารถนำมาใช้งานได้แบบฟรี ๆ ที่ต้องการความเป็นมืออาชีพ
9. Adobe Creative Cloud
หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “Adobe CC” เป็นชุดซอฟต์แวร์ที่ได้รับความนิยมสูงมาก ๆ ในปัจจุบัน เพราะภายในจะมีแอปพลิเคชัน และโปรแกรมต่าง ๆ ที่ครอบคลุมการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบกราฟฟิก การแต่งรูปภาพ การตัดต่อวิดีโอ หรือแม้แต่การออกแบบเว็บไซต์ ที่โดดเด่นเอาไว้ทั้งหมด เช่น Photoshop, Illustrator, Premiere Pro เป็นต้น
10. Spotify
แอปฟังเพลงและพอดแคสต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งผู้ใช้งานสามารถฟังเพลงได้ทั้งบนโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งใน smart TV จุดเด่นคือ Spotify ใช้ระบบ A.I. เพื่อวิเคราะห์การฟังเพลงของเราและสร้าง playlist ที่เป็นแบบ personalized หรือหมายถึงเป็นอัลบั้มเพลงของเราคนเดียวเท่านั้นจากกว่า 30 ล้านเพลงในระบบ
สรุป ซอฟต์แวร์ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกับธุรกิจในสมัยใหม่ที่มีการใช้งานคอมพิวเตอร์ในการทำงานควบคู่กับแรงงานมนุษย์ ซึ่งซอฟต์แวร์ประยุกต์เหล่านี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ สามารถทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน และช่วยเพิ่มความเร็วในการทำงาน รวมไปถึงประสิทธิภาพของงานที่พนักงานกำลังทำอยู่ให้มากยิ่งขึ้น เพิ่มผลกำไรและคุณภาพของงานให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน เรียกได้ว่า สิ่งเหล่านี้ช่วยเปลี่ยนแปลงการทำงานไปอย่างมากเลยนั่นเอง
0 Comment