×

START A PROJECT

We are here to build a high-quality extension for brands to serve your consumers.

    By HOCCO - 24 June 2023

    Supply Chain คืออะไร ควรบริหารอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพ

    สำหรับทุก ๆ ธุรกิจด้านอุตสาหกรรม ปลายทางของพวกเขาคือการซื้อขายอยู่เสมอ ซึ่งนั่นทำให้ Supply Chain คือสิ่งสำคัญที่ไม่อาจจะละเลยไปได้ และมันก็เปรียบเสมือนตัวชี้เป็นชี้ตายสำหรับธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านของการบริหารจัดการสินค้าและความต้องการ ทำให้เรื่องของ Supply Chain นี้ จึงเป็นหัวข้อสำคัญสำหรับการวางแผนระบบอุตสาหกรรมของธุรกิจ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร และอยู่ในอุตสาหกรรมแบบใดก็ตามที

    ห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain คืออะไร ทำไมจึงสำคัญนักกับธุรกิจอุตสาหกรรม


    ห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain คือ กระบวนการจัดการการผลิตเพื่อทำให้เกิดสินค้าหรือบริการขึ้นมา ทั้งด้านการจัดหาวัตถุดิบ บริหารการผลิต การจัดเก็บสินค้า ไปจนถึงกระบวนการจัดส่งสู่มือของลูกค้า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบถ้วนและทั่วถึง แล้วแต่ว่าเรากำลังผลิต Supply ใดขึ้นมาเพื่อตอบสนองผู้ซื้อ

    การจัดการ Supply Chain มีมากมายหลากหลายรูปแบบ แต่ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตามมักจะมีการเอ่ยถึง 5 ส่วนหลัก ๆ ซึ่งก็คือ

    1. Suppliers : ผู้สนับสนุนด้านวัตถุดิบ

    2. Manufacturers : ผู้ผลิต

    3. Wholesalers : ผู้กระจายสินค้า

    4. Retailers : ผู้ค้าปลีก

    5. Customer : ผู้บริโภค

    จากที่กล่าวไปข้างต้น แม้จะมีการแบ่งเป็น 5 ส่วนหลัก แต่ในเชิงการทำงานแล้ว ในการทำงานจริงก็จะมีการแบ่งแยกย่อยออกไป ตามแต่การจัดการของผู้ประกอบการ เช่น กระบวนการของซัพพลายเออร์ก็จะมีทั้งการจัดซื้อ จัดจ้าง และการจัดหาผู้ขาย การนำเข้าวัตถุดิบเองก็จะแยกย่อยออกไปเป็นการเก็บรักษา การซื้อเพื่อใช้ในทันที รวมไปถึงการกระจายสินค้าเองก็ต้องผ่านการวางแผนการผลิตเช่นกัน

    ชัดเจนว่าหากแบ่งกันตามจริง Supply Chain จะเป็นอะไรที่ค่อนข้างมีความยุ่งยากสูง ทำให้เกิดการทำงานของ Supply Chain Management (SCM) ขึ้น ซึ่งจะเป็นการรวบรวมข้อมูลทั้งผู้ซื้อ ผู้ขายรายย่อย รวมไปถึงลูกค้าไว้ในที่เดียว ให้สามารถบริหารจัดการคลังสินค้า ลูกค้า หรือการบริหารจัดการภายในองค์กร สามารถทำได้ง่าย ไม่ซับซ้อนอีกด้วย

    หลักการบริหาร Supply Chain ให้มีประสิทธิภาพ


    1. เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร 

    การเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร หมายถึง การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพตลอดทั้ง Supply Chain ไม่ใช่เฉพาะในหน่วยงานของตัวเอง ข้อมูลต้องอัปเดต ทันต่อสถานการณ์ และเกิดการวางแผน รวมถึงแก้ไขปัญหาร่วมกัน

    2. เพิ่มประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการลูกค้า

    การตอบสนองลูกค้าเพื่อความพึงพอใจ คือ เป้าหมายสำคัญของทั้งห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้นต้องทำให้การตอบสนองมีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการ เวลา และคุณค่าที่ลูกค้าต้องการ

    3. ลดจำนวนซัพพลายเออร์

    การลดจำนวนซัพพลายเออร์ จะต้องใช้วิธีการสร้างความสัมพันธ์และประโยชน์ร่วมกันระยะยาว เน้นการพัฒนาร่วมกันกับซัพพลายเออร์ ไม่เน้นจำนวนที่มาก แต่เน้นคุณภาพที่มุ่งสร้างผลประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว

    4. สร้างความได้เปรียบใน Supply Chain ของตัวเอง

    การแข่งขันไม่ใช่เฉพาะองค์กรใดองค์กรหนึ่งแข่งกัน แต่ต้องเป็นความแข็งแกร่ง และร่วมมือกันตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน

    5. ใช้ Outsourcing

    ใช้บริการจากภายนอกในงานที่ไม่จำเป็น เช่น การใช้บรการ Outsource IT เพราะในบางกิจกรรม สามารถให้ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาช่วยสร้างความได้เปรียบในองค์กรได้ และบางครั้ง ยังช่วยลดปัญหาในการจัดการ และ Fixed Cost ที่เกิดขึ้นในกิจกรรมนั้นได้ ทำให้กิจการมีความเสี่ยงที่ลดลงจากความผันผวน และการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

    6. ใช้ Postponement

    ในการผลิตและการส่งมอบให้ลูกค้า กรณีนี้ หมายถึงการเลื่อนกระบวนการออกไป ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าได้มากที่สุด เช่นผลิตภัณฑ์เหมือนเดิม แต่รอเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละราย หรือ สินค้ารออยู่ในคลังสินค้าก่อนค่อยกระจายไปยังสาขา เมื่อมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าที่แน่นอน ทำให้ไม่ต้องไปสต๊อกสินค้าไว้ที่สาขาจำนวนมาก  


    7. ใช้การขนส่งแบบ Cross-Docking

    ใช้การขนส่งแบบ Cross-Docking เพื่อลดเวลาการเก็บสินค้าไว้ในคลัง หมายถึง การลดการเก็บสินค้าไว้ในคลังสินค้า แต่ใช้คลังสินค้าเป็นเพียงจุดกระจายสินค้าไปยังลูกค้าแต่ละราย จำนวนที่เข้าเท่ากับจำนวนที่ออกตามความต้องการของลูกค้า

    8. ใช้การขนส่งแบบ Direct

    ใช้การขนส่งแบบ Direct กล่าวคือ ส่งถี่ ส่งตรง ส่งน้อย ซึ่งการส่งสินค้าในระยะทางไกลอาจไม่คุ้มกับการขนส่ง แต่ในระยะทางใกล้ ๆ การส่งโดยตรงไปหาลูกค้าเป็นสิ่งที่ช่วยตอบสนองความต้องการลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น โดยใช้วิธีการส่งที่บ่อยขึ้น และส่งในจำนวนที่น้อยตามความต้องการของลูกค้า ไม่ต้องรอออเดอร์ขนาดใหญ่ถึงส่ง เพื่อเป็นการลดการรอคอย และการจัดเก็บสต๊อกในปริมาณที่มาก

    9. ลดจำนวนสต๊อกสินค้าทั้ง Supply Chain

    การลดจำนวนสต๊อกสินค้าทั้งห่วงโซ่อุปทานด้วยการวิเคราะห์สต๊อกร่วมกัน คือการบริหาร Supply Chain ที่ไม่ใช่การบริหารเฉพาะในองค์กรของตัวเอง แต่ต้องทำพร้อมกันทั้งระบบ เพราะถ้าทำเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง เช่นทำเฉพาะองค์กรเราเองเพียงอย่างเดียว อาจเป็นการผลักภาระสต๊อกสินค้าไปยังซัพพลายเออร์ หรือ ผู้แทนจำหน่ายสินค้าได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ภาพรวมของสต๊อกสินค้าทั้งห่วงโซ่อุปทานก็ไม่ได้ลดลง เพียงแต่ถูกผลักภาระไปที่อื่นแทน ดังนั้น กิจการควรต้องบริหารสต๊อกตลอดทั้ง Supply Chain

    10. ใช้ระบบการผลิตแบบดึง มากกว่าการใช้ระบบการผลิตแบบผลัก

    การใช้ระบบการผลิตแบบดึง ให้มากกว่าการใช้ระบบการผลิตแบบผลัก เป็นการสร้างให้เกิดสมดุลในกิจการ ระหว่างความมีประสิทธิภาพ และความสามารถในการตอบสนอง ซึ่งกิจการในอดีตเน้นการผลิตแบบผลัก คือเน้นผลิตให้มากเพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ เก็บไว้เป็นสต๊อก และผลักดันสินค้าไปยังลูกค้าเพื่อให้เกิดการขาย แต่การทำเช่นนั้นก็จะก่อให้เกิดความเสี่ยง คือสต๊อกที่เกินความต้องการ ส่งผลต่อการจัดเก็บ และความเสียหายต่อต้นทุน

    ส่วนการผลิตแบบดึง คือเน้นการผลิตตามความต้องการของลูกค้า แต่ทำให้เร็วที่สุด ทำเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เพื่อให้มีความสูญเปล่าในกระบวนการที่น้อย สต๊อกต่ำ แต่อย่างไรก็ตามการผลิตทั้งแบบดึงและผลัก มีข้อดีและข้อเสียที่กิจการต้องทำให้เกิดสมดุล ระหว่าความสามารถในการตอบสนองลูกค้า และความมีประสิทธิภาพของการทำงาน  

    ประโยชน์ของการบริหาร Supply Chain ต่อภาคธุรกิจ


    - เสริมสร้างความสามารถในการบริหาร และการแข่งขันของสมาชิกในห่วงโซ่อุปทาน

    - ส่งเสริมการเติบโต และความยั่งยืนของธุรกิจ

    - สมาชิกในห่วงโซ่อุปทาน สามารถปรับระบบการทำงานให้สอดคล้องกันได้

    - แบ่งปันข้อมูลที่จำเป็นเพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน

    - ใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน

    - ตอบสนองตรงตามความต้องการของลูกค้า

    - ลดค่าใช้จ่ายอย่างเป็นระบบ

    - ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กร

    - ติดตามกระบวนการทำงานได้อย่างใกล้ชิด

    - สามารถบริหารสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    - ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่า

    สรุป

    ปัจจัยสำคัญสำหรับการจัดการห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain คือเรื่องของข้อมูล และการสื่อสารต่าง ๆ ที่ธุรกิจได้รับกลับมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำเทคโนโลยีในปัจจุบันเข้ามาส่งเสริม และเพิ่มประสิทธิภาพได้เป็นอย่างมาก อย่างเช่น การนำ ERP Software ไปใช้ แต่ทว่า สิ่งเหล่านี้ก็จำเป็นที่จะต้องทำร่วมกันกับการจัดการของฝ่ายบริหารที่มีวิสัยทัศน์ที่ดี ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้กับอุตสาหกรรมของธุรกิจนั้น ๆ ลงไปได้มาก และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นได้อีกมาก

    อ้างอิง

    https://www.dtc.co.th/ความรู้โลจิสติกส์/supply-chain-คืออะไร-เกี่ยวข้องอะไรกับ-logistics/

    https://1stcraft.com/th/what-is-supply-chain/

    https://www.sumipol.com/knowledge/supply-chain-management/

    https://www.logisboysolutions.com/content/5193/supply-chain-คืออะไร-เกี่ยวข้องอะไรกับ-logistics

    https://greedisgoods.com/supply-chain/

    https://logist.rtaf.mi.th/images/files/download/Supply_Chain_Management.pdf

    https://www.sumipol.com/knowledge/supply-chain-management-important-businesses-industries/

    https://beginrabbit.com/2020/10/21/10-กลยุทธ์หลักของการจัดก/ 

    0 Comment