ในยุคปัจจุบันที่คอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและการทำงานของเรามากยิ่งขึ้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ซอฟต์แวร์ (Software) ที่เป็นส่วนสั่งการที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่เราต้องการ ช่วยให้เราไม่ต้องเข้าไปวุ่นวายในการจัดลำดับ หรือขั้นตอนการประมวลผลอันแสนยุ่งยาก ลดเวลาในการทำงานลงไปได้เป็นจำนวนมาก หากแบ่งแยกชนิดของซอฟต์แวร์ได้ตามสภาพการทำงาน จะสามารถแบ่งแยกซอฟต์แวร์ได้เป็นสองประเภท คือ ซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) และซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software) แล้วซอฟต์แวร์ประยุกต์คืออะไรกันแน่? สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อภาคธุรกิจขนาดไหน โดยบทความนี้ผมจะพาทุกคนไปรู้จักกับซอฟต์แวร์ประยุกต์ให้มากยิ่งขึ้น
ทำความเข้าใจและความหมายของซอฟต์แวร์ประยุกต์
ซอฟต์แวร์ประยุกต์ หรือ “Application Software” เป็นประเภทหนึ่งของซอฟต์แวร์ที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในงานหนึ่งงานหรือหลายงานที่เฉพาะเจาะจง ซอฟต์แวร์ประยุกต์ถูกสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมความสะดวกสบายและประสิทธิภาพในการทำงานของผู้ใช้ทั่วไป หรือธุรกิจ ซอฟต์แวร์ประยุกต์รวมถึงโปรแกรมที่เราใช้ในการสร้างเอกสาร แก้ไขรูปภาพ สื่อสาร หรือแม้กระทำการสร้างเนื้อหามัลติมีเดีย รูปแบบของซอฟต์แวร์ประยุกต์มีหลายแบบเช่นโปรแกรมสำนักงาน (Office Suite) โปรแกรมกราฟิกและออกแบบ เบราว์เซอร์ และโปรแกรมสื่อสาร
ซึ่งครอบคลุมการทำงานหลากหลายประเภท ซึ่งทำให้พวกเราทุกคนสามารถทำงานได้ง่ายมากขึ้น ซอฟต์แวร์ประยุกต์สามารถทำงานได้บนหลายแพลตฟอร์ม ทั้งคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ดังนั้นซอฟต์แวร์ประยุกต์จึงได้รับความนิยมในการใช้งานอย่างแพร่หลายในทุกวงการธุรกิจ
โดยความนิยมส่วนหนึ่งมาจากความสามารถของซอฟต์แวร์ประยุกต์ เนื่องจากผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ มีการแข่งขันกันมากขึ้น ในหลาย ๆ ด้านเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งาน ได้แก่
● ด้านการเรียนรู้และใช้งานได้ง่าย
● มีคู่มือการใช้ซอฟต์แวร์ที่อ่านเข้าใจง่าย
● แสดงขั้นตอนวิธีการและอธิบายได้อย่างชัดเจน
● มีการรวบรวมจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระเบียบและถูกต้อง
● มีระบบโอนย้ายข้อมูลเข้าออกกับซอฟต์แวร์อื่นได้ง่ายและรวดเร็ว
จากเหตุผลดังกล่าวจะเห็นว่าซอฟต์แวร์ในปัจจุบัน มีความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงานสูงและมีราคาถูกกว่าซอฟต์แวร์ในอดีต จึงทำให้จำนวนซอฟต์แวร์มีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วและสามารถประยุกต์ใช้กับงานในด้านต่าง ๆ ได้มากขึ้น
ประเภทของซอฟต์แวร์ประยุกต์
ประเภทของซอฟต์แวร์ประยุกต์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ตามลักษณะการใช้ และตามลักษณะงานที่ใช้ ดังต่อไปนี้
1. ซอฟต์แวร์ประยุกต์ ตามลักษณะการใช้งาน
● ซอฟต์แวร์สำเร็จ (Package Software) เป็นซอฟต์แวร์ที่บริษัทคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ได้สร้างขึ้น และวางขายทั่วไปในท้องตลาด โดยผู้ใช้สามารถหาซื้อมาประยุกต์ใช้งานทั่วไปได้ ซึ่งซอฟต์แวร์ประเภทนี้ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะสำหรับงานใดงานหนึ่ง แต่ผู้ใช้งานจะต้องเป็นผู้นำไปประยุกต์ใช้กับงานของตนเอง โดยผู้ใช้อาจต้องมีการสร้างหรือพัฒนาชิ้นงานขึ้นเองภายใต้ซอฟต์แวร์ที่ต้องการ ส่วนราคาของซอฟต์แวร์ใช้งานทั่วไปนี้จะไม่สูงมากและบางซอฟต์แวร์ก็สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี อย่างเช่น Microsoft Office, Adobe Photoshop, WinRAR ฯลฯ
● ซอฟต์แวร์ใช้งานเฉพาะ (Custom software) เป็นซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับงานขององค์กรใดองค์กรหนึ่งโดยเฉพาะ หรือออกแบบและพัฒนาสำหรับนำไปใช้งานเฉพาะด้าน โดยผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่มีความชำนาญในด้านนั้น ๆ ซึ่งผู้เขียนหรือพัฒนาซอฟต์แวร์นี้จะเรียกว่า โปรแกรมเมอร์ (Programmer) โดยผ่านการวิเคราะห์ (Analysis) ออกแบบ (Design) พัฒนา (Implement) และทดสอบ (Testing) และทำให้โปรแกรมสามารถทำงานได้ถูกต้องก่อนที่จะนำมาใช้งาน อย่างเช่น ซอฟต์แวร์สำหรับงานธุรกิจ (business software) ซอฟต์แวร์ระบบงานด้านบัญชี ระบบงานจัดจำหน่าย ระบบงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือซอฟต์แวร์จัดการคลังสินค้า ฯลฯ
2. ซอฟต์แวร์ประยุกต์ ตามลักษณะงานที่ใช้
ก็คือการเลือกใช้ซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่มีคุณสมบัติ ฟังก์ชัน และประสิทธิภาพตรงกับลักษณะของงานที่ต้องทำ ด้วยการพิจารณาจากความต้องการใช้งาน ว่าต้องใช้ซอฟต์แวร์แบบไหนเพื่องานอะไร โดยผมได้ยกตัวอย่าง 7 ประเภทหลักของซอฟต์แวร์ประยุกต์ตามลักษณะงานที่ใช้ มาดังนี้
1. Word Processing Software ซอฟต์แวร์ประยุกต์สำหรับการสร้าง แก้ไข จัดรูปแบบ และพิมพ์เอกสารต่าง ๆ สามารถตรวจสอบคำผิดเพื่อแก้ไขประโยค และรองรับการใช้งานได้หลายภาษา อย่างเช่น Microsoft Word, Google Docs, LibreOffice Writer หรือ Notepad
2. Spreadsheet Software ซอฟต์แวร์ประยุกต์สำหรับการจัดการข้อมูลที่เป็นตัวเลขหรือ ข้อความในรูปแบบของตาราง มีความสามารถในการคำนวณ วิเคราะห์ และสร้างกราฟหรือแผนภูมิจากข้อมูลที่มี อย่างเช่น Microsoft Excel, Google Sheets และ Numbers
3. Database Management software (DBMS) ซอฟต์แวร์ประยุกต์สำหรับการจัดเก็บ จัดการ และเรียกใช้หรือเรียกคืนข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กัน ในรูปแบบของฐานข้อมูล โดยใช้ภาษาคำสั่งเฉพาะ (Query Language) อย่างเช่น Microsoft Access, MySQL และ Oracle
4. Presentation software ซอฟต์แวร์ประยุกต์สำหรับการสร้าง แก้ไข และแสดงผลสไลด์ที่ประกอบด้วยข้อความ ภาพ แผนภูมิ วิดีโอหรือเสียง สามารถใช้จัดรูปแบบ สร้างเอฟเฟกต์ และควบคุมการเลื่อนสไลด์ได้ อย่างเช่น Microsoft PowerPoint และ Google Slides
5. Graphics software ซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่ใช้สำหรับสร้าง แก้ไขดัดแปลง และแสดงผลภาพ มีความสามารถในการจัดการกับภาพบิตแมป (Bitmap) หรือแบบเวกเตอร์ (Vector) และมีเครื่องมือสำหรับการปรับแต่งสี ขนาด รูปร่าง หรือเอฟเฟกต์ของภาพ อย่างเช่น Adobe Photoshop และ Illustrator
6. Communication Software ซอฟต์แวร์ประยุกต์สำหรับการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์กับอุปกรณ์อื่น ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สามารถรับส่งหรือแปลงข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ ได้ อย่างเช่น Microsoft Teams, Zoom, Skype และ WhatsApp
7. Specialized Software ซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่ใช้สำหรับวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง ด้วยการพัฒนาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของสาขานั้น มักใช้กับงานด้านการวิจัย การวิศวกรรม หรือทางการแพทย์ ตัวอย่างเช่น Autodesk, AutoCAD, SolidWorks และ MATLAB
0 Comment