ระบบ Lean คืออะไร ทำไมถึงได้รับความนิยมในปัจจุบัน ? ในหลาย ๆ อุตสาหกรรมรวมไปถึงหลาย ๆ องค์กรน่าจะเคยได้ยินคำนี้มาไม่มากก็น้อย ยิ่งถ้าหากคุณดำรงตำแหน่งในระดับผู้บริหาร ผมมั่นใจได้เลยว่าคุณคงเคยได้ยินคำว่าระบบลีนมาบ้าง แต่ระบบ lean ก็อาจจะสร้างความสงสัยให้กับอีกหลายคนว่า จริง ๆ แล้ว ระบบ lean คืออะไร มีข้อดีอย่างไร สามารถช่วยให้โรงงานลดต้นทุนได้จริงหรือไม่ ? บทความนี้จะพาทุกคนไปพาคำตอบที่คุณสงสัย ถ้าพร้อมแล้วไปกันเลยดีกว่าครับ!
แนวคิดระบบ Lean เกิดจาก
แนวคิดระบบ Lean เกิดขึ้นจากระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System – TPS) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยบริษัทโตโยต้า ในประเทศญี่ปุ่น ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจและขาดแคลนทรัพยากรในการผลิต ทำให้ต้องหาแนวทางในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดความสูญเปล่าในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต และมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้าเป็นหลัก
ผู้คิดค้นแนวคิด ระบบ Lean คือ ไทอิชิ โอโนะ (Taiichi Ohno) และเออิจิ โตโยดะ (Eiji Toyoda) ร่วมกันวางรากฐานระบบที่ต่อมาถูกเรียกว่า Lean โดยมีหลักการสำคัญคือการลดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากกระบวนการผลิต เช่น การรอคอย การขนส่งที่ไม่จำเป็น การผลิตเกินความต้องการ และอื่น ๆ พร้อมทั้งเน้นแนวคิด “การผลิตแบบทันเวลาพอดี” (Just-In-Time) คือการผลิตตามความต้องการจริง ลดการสะสมสินค้าในระบบคลังสินค้า และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Kaizen) เพื่อการจัดการองค์กรให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ
ทั้งนี้ระบบ Lean ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น การบริการ การดูแลสุขภาพ หรือแม้แต่ภาครัฐ
ไขข้อสงสัย Lean Manufacturing คืออะไร
Lean Manufacturing คือ แนวคิดและแนวทางในการบริหารจัดการการผลิตที่มุ่งเน้นการลดความสูญเปล่าในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน และยังคงรักษาไว้ซึ่งคุณภาพ แนวคิดนี้เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ผลิตเท่าที่จำเป็น และส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกค้านั้นเองครับ
ทั้งนี้ในระบบ Lean Manufacturing ความสูญเปล่าไม่ได้หมายถึงแค่ของเสียจากการผลิตเท่านั้น แต่รวมถึงกิจกรรมทุกอย่างที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่า เช่น การผลิตเกินความต้องการ การรอคอย การขนส่งที่ไม่จำเป็น การเคลื่อนไหวของคนหรือเครื่องจักรโดยไม่จำเป็น การสะสมสินค้าคงคลัง การทำงานซ้ำซ้อน และของเสียจากกระบวนการที่ไม่มีคุณภาพ อีกหนึ่งหัวใจสำคัญของ Lean คือการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องหรือที่เรียกว่า “ไคเซ็น” (Kaizen) โดยให้ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางปรับปรุงงานในแต่ละวัน เพื่อพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
ประโยชน์จากระบบ Lean
หลังจากที่เข้าใจกันแล้วว่าระบบ Lean คืออะไร ต่อมาเรามาลองดูข้อดีของระบบ Lean ไปพร้อมกันดีกว่า
1. ช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดความสูญเปล่าในกระบวนการ
2. เพิ่มคุณภาพสินค้าและบริการ ควบคุมคุณภาพได้ดีกว่าเดิม
3. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ด้วยกระบวนการทำงานเป็นระบบ ง่ายต่อการปฏิบัติ ลดความซับซ้อนที่อาจจะก่อให้เกิดผลเสียตามมาภายหลัง
4. ช่วยให้แผนการตลาดที่วางไว้แม่นยำมากยิ่งขึ้น
5. ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้เร็วขึ้น
6. องค์กรพัฒนาได้ตลอดเวลา และสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี
7. เพิ่มความสามารถในการแข่งขันขององค์กร ทั้งในด้านคุณภาพ ต้นทุน และความพึงพอใจของลูกค้า
หัวใจหลักการ 5 ประการที่จำเป็นต่อระบบ Lean
หัวใจหลักของระบบ Lean มีอยู่ 5 ประการสำคัญ โดยสามารถสรุปได้ ดังนี้
1. Value (กำหนดและค้นหาคุณค่าที่ลูกค้าต้องการ)
ระบุให้ชัดเจนว่าสิ่งใดคือ "คุณค่า" ที่ลูกค้าคาดหวังและยินดีจะจ่ายเงินเพื่อให้ได้มา โดยพิจารณาจากมุมมองของลูกค้า ไม่ใช่มุมมองของผู้ผลิต
2. Value Stream (วางแผนการดำเนินงาน)
ขั้นต่อมาของ Lean คือการวิเคราะห์และทำแผนภาพกระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการส่งมอบคุณค่า ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงมือลูกค้า เพื่อตรวจสอบขั้นตอนใดมีมูลค่า และขั้นตอนใดคือความสูญเปล่าที่ควรขจัดออกไป
3. Create Flow (ขั้นตอนดำเนินงาน)
ออกแบบกระบวนการทำงานให้ไหลลื่นต่อเนื่อง ไม่ติดขัด โดยลดหรือกำจัดอุปสรรค ที่ก่อให้เกิดการติดขัดในระหว่างขั้นตอนการทำงาน เพื่อให้การผลิตหรือให้บริการรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
4. Pull (ยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก)
ต้องผลิตหรือให้บริการตามความต้องการจริงของลูกค้า ไม่ทำล่วงหน้า หรือ เกินความจำเป็น เพื่อลดการสะสมของสินค้าและลดต้นทุนจากของค้างสต็อก
5. Perfection (ความสมบูรณ์แบบ / การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง)
ข้อสุดท้ายของ Lean คือ มุ่งมั่นและปรับปรุงกระบวนการอย่างไม่หยุดยั้ง โดยการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกระดับ เพื่อให้กระบวนการสมบูรณ์ขึ้นเรื่อย ๆ และสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ดีมากที่สุดนั้นเองครับ
ตัวอย่าง ระบบ Lean ที่นำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจ
ปัจจุบันมีหลายอุตสาหกรรมที่ได้นำแนวคิดระบบ Lean ไปประยุกต์ใช้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่ภาคการผลิตเท่านั้น โดยมีตัวอย่างธุรกิจที่นำระบบ Lean ไปใช้ที่น่าสนใจ ดังนี้
1. McDonald’s
McDonald's ใช้แนวคิด Lean ในการออกแบบครัวให้มี "Flow" ที่ชัดเจน ทำให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ลดการเดินไปเดินมาโดยไม่จำเป็น มีระบบสต็อกวัตถุดิบที่ควบคุมได้แม่นยำ และผลิตอาหารตามคำสั่งซื้อจริง (Pull system)
2. Southwest Airlines
Southwest Airlines ใช้ Lean ในการจัดการเวลา turnaround ของเครื่องบิน (เวลาที่เครื่องลงจอดถึงเวลาขึ้นบินถัดไป) ให้สั้นลง เพื่อเพิ่มจำนวนรอบบินต่อวัน และลดต้นทุนการปฏิบัติงาน โดยมีการวางแผน การทำงานของทีมภาคพื้น และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
3. Walmart
Walmart ใช้ Lean เพื่อลดต้นทุนการจัดการคลังสินค้า โดยใช้ระบบข้อมูลแบบ Real-Time ติดตามยอดขายและความต้องการของลูกค้า เพื่อลดสินค้าคงคลังในระบบหลังบ้านที่ไม่จำเป็น และเติมของได้ตรงจุด
สรุป
Lean คือแนวคิดที่มุ่งเน้นการเพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้า ด้วยการลดความสูญเปล่าในทุกกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็น วัสดุ เวลา แรงงาน รวมไปถึงขั้นตอนที่ไม่จำเป็น โดยที่แนวคิด Lean ไม่ได้จำกัดแค่เพียงอุตสาหกรรมภาคผลิตหรือในโรงงานเท่านั้น แต่คุณสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกธุรกิจ เพื่อเพิ่มยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการ
0 Comment