ด้วยการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่ก้าวไกลในยุคปัจจุบัน ทำให้คอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน และการทำงานของมนุษย์มากยิ่งขึ้น และนั่นยังรวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่าซอฟต์แวร์ (Software) ที่เป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ต้องการให้มันทำ แล้วซอฟต์แวร์คืออะไรกันแน่? สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อภาคธุรกิจขนาดไหน เราจะไปดูกัน
ซอฟต์แวร์ คือ ชุดคำสั่งหรือโปรแกรมที่ใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่จะทำให้ตัวคอมพิวเตอร์นั้นทำงานได้ตามจุดประสงค์ที่ผู้ใช้ต้องการ เขียนขึ้นโดยการใช้ภาษาคอมพิวเตอร์จากนักเขียนโปรแกรม เนื่องจากคอมพิวเตอร์นั้นมีการทำงานตามขั้นลำดับ ภาษาที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม ก็จะมีลักษณะรูปแบบเฉพาะ ที่จะสามารถทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้ เช่น ภาษาเบสิก ภาษาโคบอล ภาษาปาสคาล เป็นต้น
ซึ่งเมื่อติดตั้งซอฟต์แวร์เข้าไปในคอมพิวเตอร์เครื่องดังกล่าวแล้ว ตัวซอฟต์แวร์นี่แหละ ที่จะเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่สั่งการให้คอมพิวเตอร์ทำการประมวลผลโดยอัตโนมัติ ช่วยให้มนุษย์ไม่ต้องเข้าไปวุ่นวายในการจัดลำดับ หรือขั้นตอนการประมวลอันแสนยุ่งยากของมัน ทุ่นเวลาในการทำงานลงไปได้เป็นจำนวนมาก
ประเภทของซอฟต์แวร์ในปัจจุบัน
ซอฟต์แวร์ที่มีผู้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานกับคอมพิวเตอร์นั้นมีมากมาย ซอฟต์แวร์เหล่านี้อาจได้รับการพัฒนาโดยผู้ใช้งาน ผู้พัฒนาระบบ หรือผู้ผลิตจำหน่าย ซึ่งในปัจจุบัน หากแบ่งแยกชนิดของซอฟต์แวร์ตามสภาพการทำงานแล้ว ซอฟต์แวร์จะแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภท ได้แก่ ซอฟต์แวร์ระบบ และซอฟต์แวร์ประยุกต์
ซอฟต์แวร์ระบบ (System Software)
ซอฟต์แวร์ระบบ คือ ซอฟต์แวร์ที่ดูแลจัดการกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในระบบ และช่วยในการจัดการกับระบบคอมพิวเตอร์ให้เสถียร ซึ่งจะคอยช่วยจัดการอุปกรณ์รับเข้าและส่งออก การรับข้อมูลจากแผงแป้นอักขระ การแสดงผลบนจอภาพ การนำข้อมูลออกไปพิมพ์ยังเครื่องพิมพ์ การจัดเก็บข้อมูลเป็นแฟ้ม การเรียกค้นข้อมูล และการสื่อสารข้อมูล โดยซอฟต์แวร์ระบบที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน คือระบบปฏิบัติการ (Operating System) เช่น เอ็มเอสดอส ยูนิกซ์ โอเอสทู วินโดวส์ หรือลีนุกซ์ ที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ง่ายนั่นเอง
ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software)
ซอฟต์แวร์ประยุกต์ คือ โปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้งานเฉพาะด้าน ไม่เกี่ยวข้องกับการควบคุมระบบของคอมพิวเตอร์ แต่ทำขึ้นเพื่อการสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ต้องการ ซึ่งจะทำงานโดยผ่านการเรียกใช้งานจากซอฟต์แวร์ระบบอีกทีหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ซอฟต์แวร์ประมวลคำ ซอฟต์แวร์จัดเก็บภาษี ซอฟต์แวร์สินค้าคงคลัง ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน ซอฟต์แวร์กราฟิก ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล เป็นต้น
ซึ่งในปัจจุบัน ซอฟต์แวร์ประยุกต์ได้รับความนิยมใช้งานอย่างแพร่หลายเป็นอย่างมาก จากขีดความสามารถของซอฟต์แวร์ประยุกต์นั้น ๆ เพราะซอฟต์แวร์ที่ผลิตออกจำหน่าย ต่างก็พยายามแข่งขันกันหลาย ๆ ด้าน เช่นเรียนรู้และใช้งานได้ง่าย สนับสนุนให้ใช้กับเครื่องพิมพ์ได้ดี มีคู่มือการใช้ซอฟต์แวร์ที่อ่านเข้าใจง่าย ให้วิธีหรือขั้นตอนที่อธิบายไว้อย่างชัดเจน และมีระบบโอนย้ายข้อมูลเข้าออกกับซอฟต์แวร์อื่นได้ง่าย ซึ่งจะแบ่งได้เป็นอีก 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ
- แบ่งตามการผลิตซอฟต์แวร์
- 1.1 ซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานเองโดยเฉพาะ
- 1.2 ซอฟต์แวร์ประยุกต์สำเร็จรูปที่หาซื้อได้ทั่วไป
- แบ่งตามการใช้งานซอฟต์แวร์
- 2.1 ซอฟต์แวร์ประยุกต์สำหรับใช้งานในด้านธุรกิจ
- 2.2 ซอฟต์แวร์ประยุกต์สำหรับใช้งานในด้านกราฟิกและมัลติมีเดีย
- 2.3 ซอฟต์แวร์ประยุกต์สำหรับใช้งานในบนเว็บไซต์และการติดต่อสื่อสาร
1. ซอฟต์แวร์สำหรับการวางแผนทรัพยากรองค์กร
ซอฟต์แวร์สำหรับการวางแผนทรัพยากรองค์กร หรือ ERP Software จะช่วยให้องค์กรสามารถจัดการกระบวนการทางธุรกิจต่าง ๆ ทั้งการขายสินค้า ทรัพยากรบุคคล ห่วงโซ่อุปทาน การจัดการโครงการ และเงินเดือนจากภายในระบบรวมเป็นศูนย์เดียวกัน ซึ่งองค์กรต่าง ๆ จะใช้งานซอฟต์แวร์ ERP เหล่านี้เพื่อ...
- - จัดการข้อมูลองค์กรจากแหล่งต่าง ๆ ไปที่ส่วนกลาง
- - ทำงานโดยอัตโนมัติ และทำให้กระบวนการทางธุรกิจง่ายขึ้น
- - ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเพิ่มผลกำไร
2. ซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการลูกค้าสัมพันธ์
องค์กรควรใช้ซอฟต์แวร์การจัดการลูกค้าสัมพันธ์ หรือ CRM และซอฟต์แวร์ศูนย์ติดต่อเพื่อจุดประสงค์ในด้านของ
- - จัดการความสัมพันธ์กับลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น
- - พัฒนาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความต้องการของลูกค้าด้วยข้อมูลที่เรามี
- - มอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นแก่ลูกค้าปัจจุบัน
- - ตัดสินใจโดยอิงข้อมูลสำหรับกลุ่มเป้าหมายใหม่
ด้วยการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าที่มีอยู่ และกลุ่มที่อาจเป็นลูกค้าเอาไว้ในที่เดียว ธุรกิจสามารถปรับแต่งการสื่อสารของตนเอง และสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยสามารถนำข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ มารวมกันเพื่อสร้างการส่งข้อมูลการขายและคาดการณ์ด้านการเงินได้อีกด้วย
3. ซอฟต์แวร์สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลข่าวกรองธุรกิจ
ซอฟต์แวร์สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลข่าวกรองธุรกิจ คือซอฟต์แวร์ช่วยที่รวบรวมข้อมูลที่เก็บไว้ในหลายแหล่ง จากระบบคลาวด์ ศูนย์ข้อมูลในองค์กร และสเปรดชีต (Spreadsheet) มาเพื่อวิเคราะห์และรายงานให้กับพนักงานภายในองค์กร ให้ได้รับมุมมองของข้อมูลที่สอดคล้องกันผ่านแดชบอร์ด (Dashboard) ซึ่งซอฟต์แวร์สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลข่าวกรองธุรกิจยังเน้นรูปแบบ และแนวโน้มเพื่อให้ทีมสามารถกระทำหลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ อย่างได้อย่างง่ายดาย ยกตัวอย่างเช่น
- - รับข้อมูลเชิงลึกของกระบวนการทางธุรกิจที่มีมูลค่า
- - ตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ได้อย่างมั่นใจ
- - หลีกเลี่ยงการใช้เวลานานในการวิเคราะห์ด้วยตนเอง
4. ซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการห่วงโซ่อุปทาน
ห่วงโซ่อุปทาน หรือเครือข่ายโลจิสติกส์ในปัจจุบัน เป็นเครือข่ายของผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ โลจิสติกส์ และร้านค้าปลีกที่ทำงานร่วมกัน เพื่อส่งมอบสินค้าและบริการที่มีความซับซ้อนสูง ทุกองค์กรต้องการโครงสร้างดิจิทัลพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ สำหรับการประสานงานและจัดการงานห่วงโซ่อุปทาน ไปจนถึงสร้างระบบคลังสินค้าที่มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น
- - การติดตามสินค้า
- - การปรับปรุงการผลิต
- - การจัดการใบแจ้งหนี้ของซัพพลายเออร์
- - การตรวจสอบซัพพลายเออร์
5. ซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการทรัพยากรบุคคล
ซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการทรัพยากรบุคคล เป็นซอฟต์แวร์ที่ถูกสร้างมาเพื่อการบริหารทรัพยากรมนุษย์ หรือ HR โดยทั่วไปจะประกอบด้วยเครื่องมือในการดูแล และควบคุมการทำงานของทรัพยากรบุคคล เช่น
- - การสรรหาและการฝึกอบรม
- - การจัดการวันหยุดประจำปี
- - บัญชีเงินเดือน
- - การรักษาคนเก่งและสร้างความผูกพันระหว่างองค์กรกับพนักงาน
โดยองค์กรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กร ด้วยการนำข้อมูลของทุกหน้าที่ ที่แผนกทรัพยากรบุคคลขององค์กรในปัจจุบันกำกับดูแลอยู่ มาวิเคราะห์และประเมินสำหรับการพัฒนาองค์กรให้ก้าวไกลมากยิ่งขึ้น
สรุป
ซอฟต์แวร์ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกับธุรกิจในสมัยใหม่ที่มีการใช้งานคอมพิวเตอร์ในการทำงานควบคู่กับแรงงานมนุษย์ ซึ่งซอฟต์แวร์ประยุกต์เหล่านี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ สามารถทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน และช่วยเพิ่มความเร็วในการทำงาน รวมไปถึงประสิทธิภาพของงานที่พนักงานกำลังทำอยู่ให้มากยิ่งขึ้น เพิ่มผลกำไรและคุณภาพของงานให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน เรียกได้ว่า สิ่งเหล่านี้ช่วยเปลี่ยนแปลงการทำงานไปอย่างมากเลยนั่นเอง
0 Comment