กระแสการพัฒนาองค์กรให้กลายเป็น Lean Startup กำลังเป็นที่ตื่นตัวของวงการ Startup เป็นอย่างมาก ด้วยการแข่งขันในตลาดที่สูงขณะนี้ แต่เม็ดเงินในการลงทุนของ Startup กลับมีจำกัด ทำให้ความกังวลที่ว่าสินค้าจะติดตลาดไหม จะมีคนสนใจแค่ไหน หรือจะมีคนต้องการหรือไม่ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ธุรกิจ Startup จึงทำให้ MVP Product กลายมาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้าง Lean Startup แบบลดต้นทุนขึ้นมาได้นั่นเอง
MVP Product เครื่องมือกลยุทธ์ลดความเสี่ยงทางธุรกิจ
MVP หรือ Minimum Viable Product คือเครื่องมือกลยุทธ์ทางธุรกิจ ที่มีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าหรือบริการ แล้วสินค้าหรือบริการดังกล่าวกลับไม่เป็นที่ต้องการของตลาด โดยการสร้างผลิตภัณฑ์ตั้งต้น หรือบริการตัวอย่างที่เรียกกันในภาษาของวงการ Startup ว่า MVP ออกไปทำการทดลองกับตลาดก่อน แล้วนำผลตอบรับมาวิเคราะห์ว่าควรเพิ่มหรือลดฟีเจอร์อะไร ควรปรับหน้าตาผลิตภัณฑ์หรือบริการตั้งต้นใหม่หรือไม่ และอย่างไร
โดยการทำ MVP Product จะดึงเพียงแก่นของผลิตภัณฑ์ออกมานำเสนอ และตัดฟังก์ชันเสริมต่าง ๆ ที่ยังไม่จำเป็นออกไป เหลือไว้แต่คุณค่าที่แท้จริงที่ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการจะได้รับ เพื่อทดลองว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เป็นที่ต้องการจริงหรือเปล่า ซึ่งมีคนให้คำนิยามเกี่ยวกับ MVP ไว้มากมาย แต่ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด คือ MVP ที่นิยามโดย Steve Blank และ Eric Ries โดย MVP คือ “ฟีเจอร์อย่างน้อยที่สุดของ Product ที่คุณสามารถใช้มันประเมินตลาดได้”
ข้อดีของการทำ MVP Product
วิธีการสร้าง MVP ก่อนปล่อยผลิตภัณฑ์จริงออกไป เป็นวิธีที่ช่วยลดอาการบาดเจ็บทางการเงิน ของเหล่านักธุรกิจในช่วงเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ ได้อย่างดี เพราะต้นทุนการผลิตที่มีค่อนข้างจำกัด หากลงทุนไปแล้วไม่เป็นอย่างที่หวังก็ยิ่งทำให้ท้อ เสียเวลา เสียแรง เสียเงินลงทุนไปเปล่า ๆ แต่หากเริ่มจากเล็ก ๆ ค่อย ๆ ทดลองความต้องการของตลาด และปรับปรุง พัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ ถึงจะล้มก็ล้มบนฟูก เจ็บตัวมาแต่แลกมาด้วยข้อมูลเพื่อนำไปลุยต่อได้เช่นกัน
ในทางกลับกัน หากบริษัทมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวเต็มที่มีฟีเจอร์ให้ใช้งานเยอะแยะไปหมด โดยที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ใช้ในวงกว้างมีความต้องการอะไร ผลิตไปแล้วจะมีคนใช้หรือไม่ อาจทำให้เสียเวลาในการผลิต ใช้ต้นทุนที่เยอะ มีความเสี่ยงสูง และอาจจะล่าช้าจนโดนคู่แข่งตัดหน้าไปก่อนก็ได้
โดยจะสามารถสรุปข้อดีของการทำ MVP Product ไว้สั้น ๆ ได้ดังนี้
- สามารถทดสอบสมมติฐาน โดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด
การสร้างฟีเจอร์น้อยที่สุดเพื่อทดสอบตลาดหรือสมมติฐาน ช่วยให้ธุรกิจไม่จำเป็นต้องลงทุนเงิน และเวลามากมายไปกับการพัฒนาซอฟแวร์ออกสู่ตลาด ที่มีความเสี่ยงคืออาจไม่มีคนใช้
- เร่งการเรียนรู้
การทดสอบสมมติฐานช่วยให้เราได้คำตอบเกี่ยวกับ Product ที่เราจะทำว่ามันโอเคหรือไม่ และจุดนี้ยังช่วยให้เราสามารถปรับปรุง ต่อยอด หรือทดสอบสมมติฐานใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
- ลดการเสียเวลาที่ต้องใช้ในการพัฒนา
การลดเวลา Coding หรือการเขียนซอฟต์แวร์ โดยเน้นแค่เฉพาะฟีเจอร์ที่น้อยที่สุดซึ่งเป็นแก่นของ Product เท่านั้น
- ส่งให้ถึงมือลูกค้าเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
สามารถถึงมือลูกค้าได้เร็ว โดยทั้งนี้เพื่อเก็บ Feedback จากลูกค้า รวมถึงเป็นการทดสอบสมมติฐานด้วยว่า สุดท้ายแล้วลูกค้ายอมรับ Product หรือไม่
ขั้นตอนการทำ MVP Product เพื่อมุ่งสู่การเป็น Lean Startup
1. กำหนดขนาดของไอเดีย
ควรกำหนดไอเดียของผลิตภัณฑ์ที่จะทำ และมองหาความเป็นไปได้ที่จะทำให้มันทำงานได้จริง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าไอเดียของ Startup คือการประดิษฐ์กระเป๋าสะพายหลังพลังงานแสงอาทิตย์ ก็จำเป็นจะต้องเตรียมทรัพยากรที่จะทำสิ่งนั้น อย่างเช่นแผงพลังงานแสงอาทิตย์ และกระเป๋า ซึ่งมีต้นทุนสูง ทำให้จำเป็นจะต้องทำการระดมทุน เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติ Startup ก็จำเป็นจะต้องทำกระเป๋าต้นแบบที่มีคุณสมบัติพื้นฐานเบื้องต้น ในจำนวนที่พอสมควร และนำไประดมทุนในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่รองรับ
2. ตั้งกลุ่มเป้าหมาย
Startup ที่ต้องการสร้าง MVP ต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนด้วยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้
- Age & Gender
เราต้องก่อนว่าใครคือผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ของเรา ตัวอย่างเช่น ในช่วงเริ่มแรก แอปพลิเคชั่นแบบเฟซบุ๊ก กำหนดว่าผู้ใช้งานคือวัยรุ่นในช่วงอายุ 15 ถึง 25 ปี Startup ก็ต้องทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายในช่วงอายุนี้เท่านั้น เหมือนกับการทำเว็บไซต์ที่นำเสนอเกี่ยวกับแฟชั่นล่าสุด ก็จะดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้หญิงมากกว่า
เพราะฉะนั้น จงตัดสินใจบนฐานของอายุและเพศ และสร้างคุณสมบัติของสินค้าให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย จากนั้นเปิดตัวกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเฉพาะเท่านั้น
- ภูมิภาค
Startup ต้องเลือกทำการตลาดให้ถูกที่ถูกทาง เลือกท้องถิ่นหรือภูมิภาคที่จะปล่อยตัวสินค้าให้ถูกต้อง เช่น ถ้าหากปล่อยสินค้า LTE Smartphone ในพื้นที่ที่มีความจำกัดเรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ต ก็ไม่มีใครซื้อสินค้าของเราเป็นแน่ กลับกัน ในทางตรงกันข้าม ถ้าขายโทรศัพท์ 3G ในพื้นที่ตลาดที่มีสัญญาณ LTE ก็ไม่มีใครซื้อสินค้าชิ้นนี้เช่นเดียวกัน เพราะคนในพื้นที่ดังกล่าวใช้สมาร์ทโฟน LTE กันหมดแล้ว
- ราคา
ถ้าผลิตภัณฑ์ของเรามาพร้อมกับราคาที่แน่ชัดตั้งแต่ต้น เราก็จะสามารถกำหนดได้ว่า กลุ่มเป้าหมายของเราจะยอมจ่ายเพื่อซื้อสินค้าหรือไม่ การเปิดตัวในตลาดเฉพาะ จะนำเราไปสู่กับปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ต่อไปในภายหลัง และนั่นหมายถึงการปรับราคาต่อชิ้นและยอดขายด้วย
- สำรวจและวิจัยตลาด
พูดคุยกับผู้คนเพื่อจะได้ข้อมูลและไอเดียว่า พวกเขารู้สึกอย่างไรกับผลิตภัณฑ์ของเรา พยายามเข้าให้ถึงความคิดที่ว่าผลิตภัณฑ์นี้ ช่วยแก้ไขปัญหาของพวกเขาได้อย่างไร และถ้าเป็นไปได้ ให้สำรวจถึงผลิตภัณฑ์เจ้าอื่นในท้องตลาด ซึ่งเราสามารถพูดคุยว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาด และควรมีข้อปรับปรุงอะไรบ้าง นี่จะให้ข้อมูลและไอเดียที่ดีกับ Startup เกี่ยวกับช่องว่างในตลาดที่เราสามารถเริ่มต้นคิดค้นผลิตภัณฑ์ เพื่อที่มันจะช่วยเติมเต็มช่องว่างเหล่านั้นของผู้ใช้งาน
3. ค้นหาคุณสมบัติเด่น
พยายามค้นหาคุณสมบัติที่ดีที่สุดในตัวผลิตภัณฑ์ของเรา เริ่มต้นแรก ๆ อาจสัก 3 ข้อ ซึ่งเลข 3 นี้เป็นตัวเลขที่ไม่ยากและไม่ง่ายจนเกินไป และอาจค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นไปทีละอย่าง แต่จำไว้ว่า ท้ายที่สุด Startup ควรนำผลิตภัณฑ์ชิ้นดังกล่าว เข้าสู่ตลาดด้วยคุณสมบัติทั้งหมดที่มี เพราะฉะนั้น ต้องเลือกจุดเด่นที่เรียบง่าย และเข้าถึงใจกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด
4. คำนวณต้นทุนในการผลิตสินค้า
ต้องตระหนักถึงต้นทุนในการผลิตสินค้า เพราะมันจะกินต้นทุนสตาร์อัพในการผลิตจำนวนมาก และการตั้งโรงงานเองก็เป็นงานที่หนักหนาพอสมควร เพราะฉะนั้นจึงควรเริ่มต้นด้วยสินค้าที่มีคุณสมบัติขั้นต่ำเบื้องต้น และดำเนินการต่อด้วยความช่วยเหลือของผู้ผลิตที่มีโรงงานผลิตอยู่แล้ว
5. คำนึงถึงองค์ความรู้เฉพาะภูมิภาค
ควรคิดถึงผู้ที่จะใช้งานผลิตภัณฑ์ของเราให้อยู่ในใจเสมอ เมื่อกำลังคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติขั้นต่ำที่ออกขายได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการเปิดตัวแอปพลิเคชั่นตัวอย่างด้วยโฆษณาในประเทศจีน ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องการแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาจีนเพื่อใช้เป็น Subtitle หรือถ้าไม่ทำ ก็อาจคิดแค่ว่าคนที่จะใช้ผลิตภัณฑ์นี้ ต้องเป็นคนจีนที่รู้ภาษาอังกฤษเท่านั้น เป็นต้น
สรุป
MVP Product เป็นเครื่องมือสำคัญที่หลายธุรกิจ Startup ในปัจจุบันนำมาใช้ เพื่อทดสอบสมมุติฐาน หรือประเมินความต้องการตลาดว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ จะรอดหรือไม่ ซึ่งสามารถบ่งชี้ได้ถึงความอยู่รอดของธุรกิจ Startup ในระยะยาว จากการทำ MVP Product ได้ และยังช่วยให้ธุรกิจค้นหา Core หลัก ของตัวเองได้ ว่าจุดแข็งหรือจุดขายขององค์กรคืออะไร ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น ตอบโจทย์ตลาดยิ่งขึ้น และนำไปสู่ความสำเร็จที่อยู่เบื้องหน้าต่อไป
อ้างอิง
https://digitalagemag.com/“mvp”-แนวคิดดีๆ-ลดความเสี่/
https://marketeeronline.co/archives/257534
https://starthaiup.com/start-your-team-up/minimum-viable-product/
https://www.smartsme.co.th/content/60262
https://www.hubbathailand.com/hubba-blog/what-is-mvp
https://startitup.in.th/mvp-the-startup-needs-to-know/
https://www.mindphp.com/คู่มือ/73-คืออะไร/8908-what-is-the-minimal-viable-product.html
0 Comment