หลังจากที่โลกของการทำงานได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่มีการนำ Data มาใช้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำมากกว่าเดิม จึงทำให้เกิดแนวคิดและเทรนด์การทำงานใหม่ ๆ ขึ้นมาเรื่อย ๆ โดย “Agile” คือ หนึ่งในแนวคิดการทำงานที่ได้รับความนิยมจากหลายองค์กรในปัจจุบัน เพราะ Agile คือ แนวคิดการทำงานที่เน้นความรวดเร็ว และเน้นผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นหลัก
วันนี้ผมจะพาทุกคนไขความลับแนวคิดการทำงานแบบ Agile คืออะไร มีกระบวนการทำงาน หลักการทำงานอย่างไร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้จริงหรือไม่ ทุกคำถามที่คุณสงสัยเกี่ยวกับ Agile บทความนี้มีคำตอบครับ
แนวคิดการทำงานแบบ Agile คืออะไร
Agile (ออกเสียงว่า อไจล์) หรือ Agile Methodology คือ แนวคิดการทำงานที่เน้นความรวดเร็วและผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพเป็นหลัก โดยจะลดขั้นตอนการทำงานและงานด้านเอกสารลง เน้นสื่อสารกันในทีมเป็นหลัก เพื่อให้สามารถช่วยกันพัฒนาแผนการทำงานให้เร็วขึ้น คอยเก็บความคิดเห็นและข้อเสนอต่าง ๆ จากคนในทีมมาปรับปรุงแก้ไข้ส่วนที่ผิดพลาด ส่วนใหญ่แล้วแนวคิดการทำงานแบบ Agile มักจะใช้กับแผนงานหรือโปรเจกต์ระยะสั้นเพื่อให้งานจบไวขึ้น และช่วยให้สามารถรับรู้ถึงข้อผิดพลาดได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้ทีมสามารถแก้ไขปัญหาที่เจอได้ทันที
โดยแนวคิดการทำงานแบบ Agile เหมาะกับบริษัทหรือองค์กรที่มีโปรเจกต์ย่อย ๆ จำนวนมาก เช่น บริษัทเทคโนโลยี บริษัทออกแบบเว็บไซต์ หรือ บริษัท Startup เป็นต้น
Agile vs Scrum แตกต่างกันอย่างไร ?
เป็นคำถามที่พบเจออยู่บ่อยครั้งเลยครับ ว่า Agile กับ Scrum แตกต่างกันอย่างไร ? ต้องบอกก่อนครับว่าทั้ง 2 คำนี้มีความเชื่อมโยงถึงกัน โดย Agile คือ แนวคิด ปรัชญาการทำงาน เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะเวลาที่เร็วที่สุด ส่วน Scrum คือ เครื่องมือ หรือ Tools ที่ช่วยให้แนวคิดการทำงานแบบ Agile ประสบความสำเร็จนั้นเองครับ
ข้อดีและข้อจำกัด สำหรับการทำงานแบบ Agile
สำหรับองค์กรที่สนใจแนวคิดการทำงานแบบ Agile แต่ยังไม่มั่นใจว่าตอบโจทย์การทำงานกับองค์กรของคุณจริง ๆ หรือเปล่า แนะนำให้ลองเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของ Agile เพื่อประกอบการตัดสินใจจะดีที่สุด
ข้อดี Agile
1. มีความยืดหยุ่นสูง
จุดเด่นหลัก ๆ ของแนวคิดการทำงานแบบ Agile คือ มีความยืดหยุ่นสูง สามารถโยกย้ายหรือปรับเปลี่ยนแผนงานได้ตามความเหมาะสม และเงื่อนไขของโปรเจกต์นั้น ๆ ซึ่งช่วยให้กระบวนการทำงานรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องผ่านการอนุมัติจากเบื้องบน
2. พนักงานสามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่
แนวคิดการทำงานแบบ Agile คือ การทำงานร่วมกันจากคนหลากหลายแผนก นอกจากทักษะการสื่อสารและการปรับตัวที่ดีแล้ว ในสถานการณ์แบบนี้ทักษะอื่น ๆ มักจะถูกนำมาใช้งานได้มากกว่าปกติ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ให้พนักงานสามารถแสดงศักยภาพที่ตนมีอยู่ได้อย่างเต็มที่
3. จัดการข้อผิดพลาด และ ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
การทำงาน Agile เน้นความรวดเร็วและประสิทธิภาพของงานเป็นหลัก ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและเสนอความคิดเห็นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการสื่อสารที่ชัดเจนและต่อเนื่องจะช่วยให้ทีมสามารถเห็นถึงปัญหาและข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในระหว่างโปรเจกต์ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการอนุมัติจากหัวหน้าระดับสูง
ข้อจำกัด Agile
1. ไม่เหมาะกับโปรเจกต์ทุกประเภท
อย่างที่เรารู้กัน ว่ากลยุทธ์การทำงานแบบ Agile คือ การทำงานที่เน้นการสื่อสารภายในทีม และความรวดเร็วเป็นหลัก ดังนั้นถ้าหากเป็นโปรเจกต์ที่มีความเข้มงวด มีขั้นตอนซับซ้อน จำเป็นที่จะต้องผ่านการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ระดับสูงก่อน อย่างเช่น งานราชการ หรือ งานที่มีขั้นตอนเฉพาะเจาะจง จะไม่ค่อยเหมาะกับแนวคิดการทำงานแบบ Agile เท่าไหร่นัก และอาจจะทำให้งานเกิดความเสียหายได้ด้วย
2. โครงสร้างองค์กรไม่มีความยืดหยุ่น
ถ้าหากองค์กรของคุณเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างเป็นลำดับชัดเจน ไม่สามารถโยกพนักงานจากแผนกต่าง ๆ เพื่อมาทำงานในทีมเดียวกันในระยะเวลาสั้น ๆ ได้ แนวคิดการทำงานแบบ Agile อาจจะไม่เหมาะสม และอาจจะทำให้เกิดความวุ่นวายภายในองค์กรได้
3. พนักงานไม่ให้ความร่วมมือ
หัวใจหลักของ Agile mindset คือ การทำปรับตัวและการสื่อสาร แน่นอนว่าไม่ใช่พนักงานทุกคนที่จะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ เช่น การโยกย้ายทีม เพื่อเข้าร่วมโปรเจกต์ระยะสั้น ซึ่งอาจจะทำให้พนักงานเครียดกว่าเดิม และเกิดผลเสียในระยะยาว
ประยุกต์ใช้แนวคิดการทำงานแบบ Agile ได้ง่าย ๆ ไม่กี่ขั้นตอน
หลังจากที่เข้าใจ Concept แนวคิดการทำงานแบบ Agile ว่าคืออะไรแล้ว ทีนี้เราลองมาดูวิธีประยุกต์ใช้แนวคิดการทำงานแบบ Agile กันดีกว่าครับ
1. สร้าง Scrum Workflow โดยอาจจะใช้เป็น Spreadsheet หรือ โปรแกรมอื่น ๆ เพื่อวางแผนการทำงานของโปรเจกต์ พร้อมทั้งระบุรายละเอียดต่าง ๆ ที่ทำจำเป็น เช่น สมาชิกภายในทีม วัตถุประสงค์ ขั้นตอนการทำงาน และระยะเวลาของโปรเจกต์ เป็นต้น
2. นำโจทย์ที่ได้รับมาแตกย่อยต่อเพื่อทำ Product Backlog โดยเน้น Goal ของโปรเจกต์เป็นหลัก ทั้งนี้การทำ Product Backlog จะประกอบไปด้วย 3 คำถามหลัก ๆ ได้แก่ “ในการที่จะ … ฉันจะต้อง … เพื่อที่จะ …” ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ เช่น ในการที่จะพัฒนาเว็บไซต์ ฉันจะต้องปรับ Structure และ UX/UI ของเว็บไซต์ เพื่อที่จะให้เว็บไซต์สามารถตอบโจทย์การใช้งานของกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น
3. ทำ Sprint โดยการทำ Sprint ที่ดีจำเป็นที่จะต้องระบุหน้าที่ให้ชัดเจน และจัดเรียงลำดับความสำคัญของแต่ละงาน โดยเรียงจากงานที่สำคัญและง่ายที่สุดก่อนเสมอ
4. การทดลองและปรับปรุง ถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก ๆ ทั้งนี้เมื่อเจอข้อผิดพลาดจะต้องกลับเข้าสู่ขั้นที่ 1 เพื่อสร้าง Workflow ใหม่เรื่อย ๆ จนกว่าโปรเจกต์จะสมบูรณ์ไม่มีข้อผิดพลาด
สรุป
แนวคิดการทำงานแบบ Agile คือ การทำงานที่เน้นการสื่อสารภายในทีมเป็นหลัก และลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็นลง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพในระยะเวลาที่รวดเร็วที่สุด โดยแนวคิดการทำงานแบบ Agile จะเหมาะกับองค์กรที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถโยกย้ายพนักงานข้ามแผนกได้ รวมไปถึงองค์กรที่พนักงานพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เช่น บริษัทเทคโนโลยี บริษัทออกแบบ หรือ ธุรกิจ Startup ทั้งนี้ถ้าหากคุณสนใจนำแนวคิด Agile ไปประยุกต์ใช้กับองค์กร อย่าลืมที่จะพิจารณาข้อดี-ข้อจำกัด รวมถึงความเหมาะสมต่าง ๆ ด้วย เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
0 Comment